มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563 ออนกราวด์แบบนิวนอร์มัล
มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563 ออนกราวด์แบบนิวนอร์มัล เดินหน้าเสริมแพลตฟอร์มออนไลน์ เพิ่มทางเลือกเรียนรู้วิทย์ในยุคโควิด
เปิดอย่างเป็นทางการกับงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563” รูปแบบใหม่ Virtual Science Fair ตั้งแต่วันนี้ – 23 พฤศจิกายนนี้ ที่ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โชว์ผลงานและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งในและต่างประเทศจาก 93 หน่วยงานชั้นนำ 11 ประเทศร่วมจัด ย้ำจัดแสดงงานตามรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) วางมาตรการคัดกรองผู้เข้าชมงานอย่างเคร่งครัดตามข้อกำหนดของรัฐบาล พร้อมชวนเปิดประสบการณ์ใหม่ Virtual Science Fair จำลองบรรยากาศงานจริงสู่โลกออนไลน์ เพิ่มทางเลือกการเรียนรู้วิทย์ฯ ในยุคโควิด
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในฐานะเป็นประธานเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563 ว่า วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์อย่างมาก ไม่เพียงประโยชน์ต่อสังคม บ้านเมือง แต่ยังให้ความเพลิดเพลินกับผู้คนจำนวนมากทำให้เด็กๆ ใฝ่เรียนรู้ รักการเฝ้าสังเกต ทดลอง ทดสอบ สรุปให้เป็นทฤษฎี ยิ่งไปกว่านั้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้ไทยหลุดพ้นกับดักสำคัญ 4 ด้าน คือกับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการศึกษาและความขัดแย้ง โดยบทบาทภารกิจของ กระทรวง อว. เปรียบได้กับหัวรถจักรที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต ประเทศของเราต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งหุ้นส่วนสำคัญที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้เกิดขึ้นจริงคือ ‘คน’ ขณะเดียวกัน เราต้องเตรียม ‘คน’ ของเราให้พร้อมเผชิญกับความผันผวนในโลกยุคใหม่และความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน และพร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยสิ่งที่กระทรวง อว. กำลังดำเนินการอยู่ คือ การทำให้เยาวชนไทย รวมทั้งนักศึกษาพัฒนาความรู้ไปทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องทำวิจัยเป็น คิดอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล มองรอบด้าน โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน รวมทั้งผลักดันให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการสร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมเพื่อรับมือกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า พระมหากษัตริย์ไทยท่านทรงมีบทบาทสำคัญในการสร้างให้เกิดวิทยาศาสตร์ในไทย ทรงนำความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ดังเช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงศึกษาเรื่องการดูดาวโดยเรียนรู้จากเปอร์เซียและฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 4 “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นสมาชิกวารสารสิทธิบัตรของต่างประเทศ ท่านทรงแปลลิขสิทธิ์ทางปัญญาเรื่องเรือและปืน จนสามารถผลิตปืนของประเทศไทยได้เอง และรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำองค์ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาใช้แก้ไขปัญหาความทุกข์ยากและ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย จนเป็นที่ประจักษ์ชัดและเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศในเมืองไทยวิทยาศาสตร์มีความเกี่ยวข้องกับกษัตริย์และขุนนางมาโดยตลอด
ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกันวิทยาศาสตร์ถือเป็นงานอดิเรกของพระมหากษัตริย์ หรือขุนนางทางยุโรป เช่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสเป็นผู้คิดค้นบอลลูน ในอดีตยังไม่มีอาชีพนักวิทยาศาสตร์ คำว่า ‘นักวิทยาศาสตร์’ เริ่มมีในศตวรรษที่ 19 ในสมัยเซอร์ไอแซคนิวตัน เราเรียกวิทยาศาสตร์ว่า ‘ปรัชญาว่าด้วยธรรมชาติ’ จนเมื่อถึงยุคของพวกเรา วิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นอาชีพ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563” ระหว่างวันที่ 13 – 23 พฤศจิกายน 2563 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” มีประเด็นสื่อสารถึงเรื่อง “BCG Model: Bio-Circular-Green Economy”เป็นนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม, ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การถอดรหัสศาสตร์พระราชา, กระบวนการและเป้าหมายการพัฒนาประเทศไปสู่Thailand 4.0 รวมทั้งการเฉลิมฉลอง2 วาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์และสังคมของโลกในปี 2020 ได้แก่ ปีสากลแห่งสุขภาพพืช และปีสากลแห่งการพยาบาลและผดุงครรภ์ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้เข้าชมงานมหกรรมวิทย์ฯ วันละประมาณ 1 แสนคนต่อวัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสนใจของไทยกับวิทยาศาสตร์ และสำหรับการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ
ในปีนี้ กระทรวง อว. ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวม 93 หน่วยงานชั้นนำ จาก 11 ประเทศร่วมจัด เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นแก่เยาวชนและสังคมไทย พร้อมทั้งสร้างสรรค์วิธีการ รูปแบบการนำเสนอใหม่ เสริมแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามา ที่ไม่เพียงช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงงานจากผู้เข้าชมงานที่อยู่พื้นที่ห่างไกลหรือผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมา แต่ยังเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ เพิ่มช่องทางเลือกให้ผู้เข้าชมงาน ให้สนุกไปกับกิจกรรมและเปิดมุมมองการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านช่องทางใหม่นี้ มี 2 ช่องทางในการเข้าชมงาน ช่องทางแรกคือเข้าชมงานในสถานที่จริงที่จะจัดขึ้น ตั้งแต่วันนี้ - 23 พฤศจิกายน 63 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. เข้าชมฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมด้วยมาตรการจำกัดผู้เข้าชมงาน และมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามข้อกำหนดของรัฐบาล
และช่องทางที่สองคือ ช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์งาน www.thailandnstfair.com และสามารถรับชมกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้น เช่น การเยี่ยมชมงานของพรีเซนเตอร์และเหล่าคนดังที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผ่านการถ่ายทอดสดในมุมมอง 360 องศา ทางเฟสบุ๊กของงาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH รวมทั้งร่วมสนุกกับกิจกรรมแจกของรางวัล Limited Edition ตลอดการจัดงานทุกวัน
สำหรับไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาด! กระทรวง อว. ได้คัดเลือกนิทรรศการหลักที่มีเนื้อหาอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชน มีความเป็นสากล และมุ่งเน้นการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ, นิทรรศการเจาะนวัตกรรมเกม I Tech behind Games เรียนรู้นวัตกรรมในการพัฒนาเกมจนกลายมาเป็นกีฬาออนไลน์, ตื่นตาตื่นใจกับการจำลองชีวิตบนดาวอังคาร ในนิทรรศการหนึ่งวัน... (บนดาว)อังคาร | A Day on Mars, มาเรียนรู้ สู้มหันตภัยจิ๋วในนิทรรศการมหันตภัยจิ๋ว | Micro Monster, เรียนรู้และสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม ในนิทรรศการอนาคตออกแบบได้ I Sustainable Design และยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ การประกวดแข่งขัน การประชุมสัมมนาทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนกฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เปรียบเสมือนตลาดความรู้ขนาดใหญ่ที่รวบรวมองค์ความรู้และกิจกรรมมากมาย ที่สามารถมาเรียนรู้ พัฒนาความคิด และนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้จากนิทรรศการต่างๆ มากมาย ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ จึงขอเชิญชวนพ่อแม่ครูอาจารย์ เยาวชนและประชาชนทุกท่านเข้าชมงานมหกรรมวิทย์ฯ ทั้ง 2 ช่องทาง
ภายหลังจากกล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล Prime Minister’s Science Award 2020 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเยาวชนและครู ในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปสู่การต่อยอด ยกระดับให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดเป็นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมในอนาคต