
ปูม้านิ่ม
เราคงคุ้นเคยและรู้จักปูนิ่มกันมาแล้ว และหลายคนก็เคยลองชิมรวมทั้งเห็นความแตกต่างระหว่างปูธรรมดา ซึ่งมีกระดอองแข็ง ซึ่งเวลากินต้องแกะด้วยความยากลำบาก กับปูนิ่มซึ่งสามารถกินได้ทั้งตัว บรรดาปูนิ่มที่ขายอยู่ในตลาดเมืองไทยทั้งหมด
เป็นปูนิ่มที่ได้มาจากปูดำ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าปูทะเล ซึ่งชื่อของปูก็บอกสีสันแล้วว่าลำตัวจะมีสีคล้ำ ออกเขียวอมดำ เมื่อปูเหล่านี้ลอกคราบกลายเป็นปูนิ่ม ก็คงหนีไม่พ้นที่จะมีสีคล้ำดำเช่นกัน ดังนั้นความน่ากินก็คงจะลดน้อยลง แต่เนื่องจากรสชาติอร่อยกว่าปูธรรมดา จึงยังคงได้รับความนิยม และซื้อขายกันในราคาที่แพงกว่าปูธรรมดา
มีปูอีกชนิดหนึ่งที่สีสวยกว่า นั่นก็คือปูม้า ซึ่งต่างจากปูดำตรงที่ว่าสีเปลือกเป็นสีฟ้า มีลวดลาย ดังนั้นเมื่อปูม้าลอกคราบก็จะได้ปูนิ่มที่มีสีสันสวยงามตามสีผิวเดิม จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในอเมริกา และยุโรป แต่การผลิตปูม้านิ่มทำได้ยากกว่าปูดำ เพราะเป็นสัตว์น้ำที่มีพฤติกรรมการอยู่อาศัยต่างกัน แต่ทั้งหมดก็หนีไม่พ้นความพยายามของนักวิจัยไทยที่จะพัฒนาให้มีการเลี้ยงปูม้านิ่มจนสำเร็จเห็นผลและทำได้จริงในระดับการเลี้ยงของเกษตรกรทั่วไป ซึ่งเป็นช่องทางการขยายตลาดปูให้กว้างขวางขึ้นได้
เมื่อ 2 ปีที่แล้วเคยนำเรื่องของงานวิจัยปูม้านิ่ม ที่ทำขึ้นโดยกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมี ดร.บุญรัตน์ ประทุมชาติ กับ ดร.ปภาศิริ บาร์เนท เป็นผู้ดำเนินการเพื่อพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงปูม้านิ่มในระดับการค้าหรือเชิงพาณิชย์ และประสบความสำเร็จดีพอสมควร แต่งานเรื่องการพัฒนาปูม้านิ่มไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ เพราะต้องพัฒนาต่อไปจนกระทั่งเกิดการเลี้ยงและค้าขายได้จริง จึงได้เกิดโครงการนำร่องเพื่อการผลิตปูม้านิ่มเชิงพาณิชย์โดยให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมด้วย
งานนี้มี ผศ.มยุรี จัยวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีม เป็นการทำเพื่อต่อยอดผลงานวิจัยการผลิตปูม้านิ่มจากบ่อทดลอง นำร่องสู่การประกอบการเชิงพาณิชย์ โดยคัดเลือกเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่บ้านเกาะเตียบ อ.ปะทิว จ.ชุมพร เป็นสถานที่ทดลองผลิต และให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมในโครงการตั้งแต่ต้น โดยผู้ประกอบการที่ร่วมวิจัยได้ลงทุนสร้างโรงเรือนผลิตปูม้านิ่ม บนพื้นที่ 28 ตารางวา กำลังการผลิต 600 กล่อง และสามารถรองรับการทำธุรกิจรูปแบบชุมชนขนาด 10 ครัวเรือนได้
ต่อมาได้ขยายขนาดขึ้นเป็นการผลิตถึง 6,000 กล่อง และใช้พื้นที่มากขึ้น เมื่อได้ผลผลิตแล้วก็ได้นำไปทดสอบตลาดดู โดยเป็นการทดสอบการยอมรับของผู้บริโภคผ่านความร่วมมือของร้านอาหาร พบว่าได้รับการยอมรับจากร้านอาหารเป็นอย่างดี ด้วยเหตุผลในความเป็นของใหม่และเป็นอาหารสุขภาพ และในขณะเดียวกันก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคสูงมาก จนกระทั่งร้านอาหารที่ร่วมโครงการตั้งแต่แรกได้จำหน่ายเมนูปูม้านิ่มตลอดโครงการ และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงปูม้านิ่มที่มีการผลิตเป็นกล่อง หลายท่านอาจยังไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ความจริงแล้วก็คือกล่องพลาสติกโปร่งขนาดไม่ใหญ่นัก สามารถใส่ปูได้กล่องละตัว แล้วนำไปเลี้ยงในน้ำ โดยผูกเชือกร้อยกันเป็นพวง เพื่อความสะดวกในการดึงเข้ามาดูว่ามีการลอกคราบแล้วหรือยัง หากเพิ่งลอกคราบ ก็จะหยิบขึ้นมาขายเป็นปูนิ่มได้
วิธีการนี้ใช้ในการเลี้ยงปูดำนิ่ม แต่เมื่อมาใช้ในการเลี้ยงปูม้าก็ต้องเปลี่ยนแบบกล่อง เพราะว่าพฤติกรรมของปูดำกับปูม้านั้นต่างกัน
คราวหน้าจะมาเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า ชาวบ้านเลี้ยงปูม้านิ่มกันอย่างไร!!
พีระเดช ทองอำไพ