ไลฟ์สไตล์

กระเทาะแก่นการศึกษาไทย ถ้าไม่สนใจเครื่องแบบนักเรียน

กระเทาะแก่นการศึกษาไทย ถ้าไม่สนใจเครื่องแบบนักเรียน

02 ธ.ค. 2563

เริ่มต้นปฏิรูปการศึกษาด้วยการยอมรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ผู้ที่ต้องรับผลจากการจัดการศึกษาไทย ไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่คิดแทน หยุดการแย่งตำแหน่ง ปรับโครงสร้าง เพิ่มเงินเดือน มาฟังเด็กดูบ้าง...โดยชัยวัฒน์ ปานนิล

อย่าบดบังและกดทับการศึกษาไทยด้วยเครื่องแบบนักเรียน

หลายท่านอาจจะคิดว่า แค่เครื่องแบบนักเรียนยังใส่ไม่ได้ จะทำอะไรได้ เป็นคำตอบง่ายๆ ที่จะปัดไม่รับฟังความคิดของเด็ก ที่ผ่านมาการศึกษาไทยมีการปฏิรูปมาแล้วหลายครั้ง แต่เป็นการปฏิรูปโดยผู้มีอำนาจทางการบริหาร สุดท้ายก็จบแค่โครงสร้างและตำแหน่ง 

 

อ่านข่าว : เปิดใจรับฟัง หาความต่าง '135 ปี' เครื่องแบบนักเรียนไทย

 

แต่ครั้งนี้เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มโดยนักเรียน ถ้ายอมรับและฟังความคิดของเด็กได้ ปลดเครื่องแบบนักเรียนออก ท่านอาจจะได้เห็นเนื้อในของวงการศึกษา

 

ก่อนที่จะแสดงความคิดเห็น ขอบอกไว้ก่อนว่า เครื่องแบบไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ชุดเครื่องแบบหรือชุดยูนิฟอร์มนั้น มีการเริ่มสวมใส่กันมาตั้งแต่ในสมัยยุคโรมัน สำหรับประเทศไทยของเราการสวมใส่เครื่องแบบเริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่สมัย สุโขทัย อยุธยา จนเข้ามาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 

 

แล้วพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงสมัยช่วงรัชกาลที่ 4 และในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปรับปรุงจนทำให้เกิดเป็นชุดราชปะแตน ซึ่งมีที่มาจาก คำว่า “ราช” รวมกับคำว่า “แพทเทิร์น” กลายเป็น ราชปะแตน ชุดราชปะแตนจะเป็นเสื้อสีขาวลักษณะคอเสื้อจะเป็นคอตั้ง ทรงเสื้อจะมีลักษณะแบบแขก มีกระดุมด้านหน้า 5 เม็ดด้วยกัน ส่วนด้านล่างจะเป็นการนุ่งโจงกระเบนและใส่รองเท้าแบบฝรั่ง

เครื่องแบบ (Uniform) จริงๆ แล้วหมายถึง การอยู่ภายใต้ข้อบังคับบางอย่าง เพื่อให้ผู้ที่สวมใส่มีลักษณะเหมือนกันเป็นเนื้อเดียวกัน มีความเป็นหมู่คณะ จัดอยู่ในกลุ่มหรือหมวดหมู่เดียวกันไม่ว่าจะเป็น ชุดนักเรียน ชุดนักศึกษา ชุดแต่งงาน ชุดทำงาน ชุดพนักงาน หรือแม้กระทั่งชุดพ่อครัว

 

ในสังคมของเรานั้นต้องมีการจัดการกับคนหมู่มาก เพื่อให้สามารถแยกแยะผู้คนได้ จึงทำให้เกิดเป็นเครื่องแบบขึ้น และชุดเครื่องแบบยังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดความเป็นตัวตนของผู้ที่สวมใส่ ยกตัวอย่าง เช่น การใส่ชุดนักเรียน ก็จะทำให้เรารู้ว่าในช่วงนั้นคือเราควรทำอะไร มีขอบเขตแค่ไหน ช่วยในการกล่อมเกลาจิตสำนึกว่าผู้ที่สวมใส่อยู่คือเยาวชนที่มีหน้าที่เล่าเรียนหนังสือและกำลังสวมบทบาทเยาวชนของชาติ

 

กระเทาะแก่นการศึกษาไทย ถ้าไม่สนใจเครื่องแบบนักเรียน

นอกจากนี้แล้วเครื่องแบบบางอย่างยังสวมใส่เพื่อเป็นการแสดงตัวตนให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ชุดของเหล่าอาร์ตติสที่ส่วนใหญ่มักจะเห็นว่าเป็นชุดสีดำล้วน ดังนั้นเครื่องแบบจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในชีวิตประจำวันเพื่อทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าคนนี้ทำอาชีพอะไร คนที่ใส่เครื่องแบบเองก็จะรู้ว่าตัวเองมีขอบเขตในการปฏิบัติตัวอย่างไร นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมต้องใส่เครื่องแบบ

 

 

ย้อนกลับมาที่ ทำไมถึงต้องมาสนใจ เรื่องการแต่งตัวของนักเรียน ทั้งๆที่ระบบการศึกษามีปัญหาตั้งมากมาย เรื่อง การศึกษา ที่ถูกมองและแก้โดยผู้ใหญ่มาหลายหน เช่น โรงเรียนไม่พอ ,หลักสูตรไม่พัฒนา ,ภาษาไม่ได้ ,วิชาการแพ้เพื่อนบ้านแม้แต่ในอาเซียน ,ปิดเทอมไม่ตรงประเทศรอบข้าง ,หนี้ครูท่วมหัว ,ละเมิดทางเพศในโรงเรียน ,นักเรียนยกพวกตีกัน ฯลฯ 

 

คิดและแก้วนเวียนอยู่กับผู้บริหาร นักวิชาการศึกษา ที่เรียกกันสวยหรูว่า “ปฏิรูปการศึกษา” สุดท้ายก็จบกันแค่ปรับโครงสร้าง เงินเดือนและตำแหน่ง ผู้บริหารเพิ่มมากขึ้น ครูได้ค่าตอบแทนมากขึ้น (แต่ก็ยังเป็นหนี้เหมือนเดิม) ผู้บริหารระดับสูงแทบจะเดินชนกัน แต่การศึกษาทำไมไม่ดีขึ้น

 

ถึงคราวของเด็กเขาคิดบ้าง เขาก็อยากสะท้อนปัญหาบ้าง เครื่องแบบไม่ได้น่ารังเกียจขนาดนั้น อย่าหลงประเด็นไป นักเรียนเขาต้องการสะท้อน ”อำนาจนิยม” ที่กดทับอยู่มากกว่า อย่าสงสัยเลย ว่า ”เครื่องแบบนักเรียน“ กลายเป็น “อำนาจที่กดทับ” ไปได้อย่างไร แค่เรื่องการสถาปนาอำนาจนำแบบพื้นๆก็อธิบายได้แล้ว การดำรงอยู่ของอำนาจนำ ไม่ได้จัดการตัวเองด้วยมิติเดียว มันสร้างภาพลวงไว้หลายมิติ ทั้งอำนาจ”แข็ง” และอำนาจ “อ่อน”

 

เครื่องแบบเป็นแค่สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและสะท้อนในเชิงรูปธรรมของ นักเรียนได้ง่ายที่สุดแล้วเท่านั้นเอง หลังจากเขาเห็นว่าการแก้ปัญหาแบบ “ถอดบทเรียน” ตามเวทีสัมมนา มันก็แค่นั้น สังคมลืมตั้งแต่ผู้อภิปรายยังไม่ลงจากเวที การเปิดประเด็นสู่การถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง จึงต้องลงมือทำอย่างเห็นจริง

 

ถอดเครื่องแบบของระบบการศึกษาออก เพื่อพิจารณาปัญหาที่แท้จริง ถึงเวลารับรู้ รับฟัง จากผู้ที่ได้รับผลที่แท้จริงจากการศึกษา กันเสียที!!!