
ทำไมต้องเป็นนักเลง
แหม เดินส่ายอาดๆ เข้ามายังกับนักเลงแน่ะ
นั่นเป็นท่าทางภายนอก นักเลงอาจจะตัวใหญ่ ต้องมีมาดให้ลูกน้องกลัว ไว้หนวด ห้อยพระเครื่องรางของขลังเต็มคอ (เพราะอาจจะมีศัตรูเยอะ) ถ้าอยู่ในชนบทก็อาจจะมีผ้าขาวม้าเคียนพุงเข้าไปด้วย ก็จะได้ภาพของนักเลงได้อย่างครบเครื่อง
ทั้งหมดที่ว่ามานั้น เป็นรูปลักษณ์ภายนอก แต่คุณสมบัติของนักเลงอย่างหนึ่ง คือความเป็นคนใจใหญ่ เพราะความเป็นคนใจใหญ่นั้นเอง จึงมีลูกน้องเยอะ ลูกน้องรัก ลูกน้องจึงยกให้เป็นพี่เบิ้ม เพราะปกป้องคุ้มครองเขาได้ การที่จะปกป้องคนอื่นได้นั้น เรียกว่า ต้องมีบารมี
กล้าได้กล้าเสีย คนที่มีลักษณะกล้าได้กล้าเสีย คือคนที่กล้าตัดสินใจ และกล้ายอมรับ หากการตัดสินใจนั้นผิดพลาด
อีกคุณสมบัติหนึ่งของความเป็นนักเลง คือความเป็นผู้นำ เมื่อถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน นักเลงจะปรากฏตัว ไม่ว่าเป็นการเจรจากับฝ่ายศัตรู หรือแม้นำพวกตะลุมบอน นี่เป็นคุณสมบัติที่เด่น
อีกประการหนึ่ง คนที่เป็นนักเลงจริงนั้น จะรักษาสัตย์วาจา
ปัญหาที่เราพบ คือการที่นักเรียนมักยกพวกตีกัน ลองจับคนหัวโจกมาคุย จะได้เห็นคุณสมบัติที่ว่านี้ปรากฏบางประการ เป็นคุณสมบัติที่ดี ที่เราต้องเอามาหยิบใช้ให้เข้ากับสถานการณ์
รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์การยกพวกตีกันนั้น หลายครั้งจะเล่าว่า ไปช่วยน้อง...อ้าว นี่เป็นจิตอาสาชั้นเลิศทีเดียว
ลูกคนหนึ่ง ชี้ให้ดูว่า รอยกระสุนที่ถากซีเมนต์ที่สะพานผ่านฟ้านั้น เป็นรอยกระสุนที่เฉียดหัวเขาไป...แม่จะเป็นลม แม้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ๕ ปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
“ทำไมลูกถึงทำอย่างนั้น?”
“ออกไปช่วยเพื่อนครับ เพื่อนถูกรุมตี”
ในหมู่นักเรียนนักเลงนั้น ลูกเราทั้งนั้น ลูกดีๆ นี้แหละ ดึงเอาศักยภาพที่ดีมาใช้ให้เป็นประโยชน์เถิด
"ธัมมนันทา"