ไลฟ์สไตล์

 แถลงการณ์ชมรมครูฯ คัดค้านร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯลดทอนคุณค่าครู

แถลงการณ์ชมรมครูฯ คัดค้านร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯลดทอนคุณค่าครู

16 พ.ค. 2564

ครูไม่สบายใจ..ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติลดทอนคุณค่าของครูลงจากเดิมในหลัก 3 ประการ

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานคร ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2564 เรื่อง คัดค้าน “ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....”
(ฉบับผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 488/2564) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0906/68   ลงวันที่ 19 เมษายน 2564 เรื่อง ผลการพิจารณาความสอดคล้องของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ... รวม 2 ฉบับ กับนโยบายของคณะรัฐมนตรี อันมีสาระสำคัญของหนังสือว่า หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับผลการพิจารณา จะเป็นเอกสารที่ต้องจัดส่งให้สภาผู้แทนราษฎรต่อไป นั้น

ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ ได้ร่วมเครือข่ายกับเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เกิดความรู้สึกไม่สบายใจและไม่ไว้วางใจ เนื่องจาก ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในทางที่ ลดทอนคุณค่าของครูลงจากเดิม ในหลัก 3 ประการ กล่าวคือ

1) ไม่มีการบัญญัติว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง”

2) ไม่มีการบัญญัติว่า “ครูฯ ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” และ

3) ไม่มีการบัญญัติคำว่า “ผู้บริหารสถานศึกษา” แต่บัญญัติคำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” 
 

การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของกฎหมายเช่นนี้เอง จึงก่อให้เกิดความไม่สบายใจและไม่ไว้วางใจ โดยครูผู้เป็นบุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาของรัฐ

ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ประกอบมาตรา 38 - 44 หมวด 3 ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง วิทยฐานะ และการให้ได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งการกำหนดตำแหน่งฯ

นี้เองถือได้ว่า เป็นจุดแข็งเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาคุณภาพครู สามารถที่จะทำให้ผู้ที่รักและมีจิตวิญญาณของความเป็นครูได้เกิดความมั่นคงและเกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพอันเป็นความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้คนดีและคนเก่งมาเรียนในสาขาวิชาชีพครู ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการหล่อหลอมจากสถาบันผลิตครู และเมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้ว จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จึงจะเป็นบุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักตามมาตรา 4 ดังกล่าวได้ 

การไปลดทอนคุณค่าของครูลงจากเดิม เช่นนี้ อาจกระทบต่อมาตรฐานวิชาชีพครู ส่งผลให้สังคมเกิดความไม่มั่นใจต่อจิตวิญญาณของความเป็นครู จรรยาบรรณ ความรักความเอาใจใส่ การเสียสละทุ่มเท และคุณภาพของครู โดยอาจกระทบต่อเนื่องไปยังคุณภาพของผู้เรียน ในทางตรงกันข้าม หากจะคาดหวังคุณภาพของผู้เรียนที่ดีขึ้น จึงควรที่จะพัฒนาวิชาชีพครูจากรากฐานเดิมที่เป็นอยู่

ซึ่งชมรมฯ เชื่อว่า วิชาชีพครูเมื่อพัฒนาได้ถูกทาง จักสามารถที่จะสร้างคุณภาพของการศึกษาชาติได้ ซึ่งการไปลดทอนคุณค่าของครูลงจากฐานเดิมด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ จึงมิใช่เหตุผลที่ยอมรับได้ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ จึงขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และเห็นควรสนับสนุนข้อเสนอของหนังสือเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย

ที่ ค.อ.ท. 03/2564 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เรื่อง ข้อเสนอประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...กราบเรียน นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) อีกทั้งขณะนี้ เครือข่าย 300 องค์กรที่ร่วมกับ ค.อ.ท.ได้ดำเนินการยื่นหนังสือในหลักการเดียวกันกับหนังสือฉบับดังกล่าว ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีอยู่ทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้โปรดช่วยดำเนินการตามข้อเสนอ

ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ จึงขอแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติฯ และขอได้โปรดให้มีการแก้ไขตามข้อเสนอของ ค.อ.ท.ก่อนที่จะนำ   ร่างฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาในลำดับถัดไป หากมีการแก้ไขร่างฯ ก่อนนำเข้าสู่สภา    ก็จักเป็นผลงานของรัฐบาลและรัฐสภาไทย ที่มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่พร้อมจะร่วมการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ให้ประสบผลสำเร็จไปได้ โดยมีความมั่นว่าจะได้ครูที่มีคุณภาพ และจะส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนได้จริง

 ไกรทอง กล้าแข็ง

ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์

แถลงการณ์ชมรมครูฯ คัดค้านร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯลดทอนคุณค่าครู