ทำไม "ธงสีรุ้ง" ต้อง 6 สี สู่สัญลักษณ์ Pride Month
เปิดที่มา-ความหมายของ "ธงสีรุ้ง" สัญลักษณ์ของเดือนมิถุนายน เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ
ตั้งเริ่มต้นเดือนมิถุนายน จะเห็นหลายสื่อหลายคนเปลี่ยนเป็นโปรไฟล์ที่มีสัญลักษณ์ของธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) สัญลักษณ์ของ Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)
แต่มีใครทันสังเกตหรือไม่ว่า “ธงสีรุ้ง” นั้นมี 6 สี ไม่ใช่ 7 สี และความจริงต้นกำเนิดของธงสีรุ้งก็มีสีมากกว่านี้...
คนไทยเราคุ้นชินกับ “รุ้งกินน้ำ” (Rainbow) ซึ่งมี 7 สี แบบที่ท่องง่ายๆ คือ ม่วง, คราม, น้ำเงิน, เขียว, เหลือง, แสด (ส้ม), แดง แต่ “ธงสีรุ้ง” (Rainbow Flag) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) นั้นปัจจุบัน เป็นธงที่มี 6 สี
ความหมายของธงสีรุ้ง คือ
- สีแดง คือ ชีวิต (LIFE)
- สีส้ม คือ การเยียวยา (HEALING)
- สีเหลือง คือ แสงอาทิตย์แห่งความหวัง (SUN)
- สีเขียว คือ ธรรมชาติ (NATURE)
- สีฟ้า คือ ความสามัคคี (HARMONY)
- สีม่วง คือ จิตวิญญาณ (HUMAN SPIRIT)
ผู้ออกแบบ “ธงสีรุ้ง” ผืนแรกของโลก คือ “กิลเบิร์ต เบเกอร์” (Gilbert Baker) ศิลปินชาวอเมริกัน เพื่อใช้ในงานเดินขบวนรณรงค์สิทธิความเท่าเทียมกัน Gay Freedom Day ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521)
ธงสีรุ้ง ต้นแบบที่เบเกอร์ ลงมือเย็บด้วยตนเอง มี 8 สี ได้แก่ 1. สีชมพู (เพศวิถี) 2. สีแดง (ชีวิต) 3. สีส้ม (การเยียวยา) 4. สีเหลือง คือ (แสงอาทิตย์) 5. สีเขียว (ธรรมชาติ) 6. สีคราม (เวทมนตร์) 7.สีฟ้า (ความสามัคคี) 8. สีม่วง (จิตวิญญาณ) โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก ธงชาติสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ฉลองครบ 200 ปี เมื่อค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519)
แต่ปัจจุบันธงสีรุ้งไม่ได้มี 8 สี แต่เป็น 6 สี เนื่องจากปีถัดมาเบเกอร์ได้ตัด 2 สีออก คือ สีชมพูและสีคราม เนื่องจากสมัยก่อนสีชมพูเป็นสีที่ผลิตยาก และเขายังเห็นว่าดีที่สุดที่ธงจะใช้สี 6 สี คือ แดง, ส้ม, เหลือง, เขียว, ฟ้า และม่วง เพื่อแสดงออกถึงความสุข ความงดงามและพลังของพวกเรา
ธงสีรุ้ง ถูกนำมาใช้แสดงออกในเดือนมิถุนายนของทุกปี นับตั้งแต่จุดเริ่มต้น Pride Month จากเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในคืนวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969 (พ.ศ. 2512) ระหว่างที่กลุ่มชาวเกย์รวมตัวอยู่ในบาร์ มีตำรวจมาตรวจค้นตามปกติ
แต่ครั้งนั้นผู้คนในบาร์ต่างขัดขืนและไม่ยอมต่อการเลือกปฏิบัติของตำรวจจนเกิดเป็นการจลาจล โดยเหตุการณ์รุนแรงในครั้งนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนของหน้าประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ที่ไม่เพียงในอเมริกาเท่านั้น ยังเกิดเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของชาว LQBTQ+ ทั่วโลก
และปีต่อมา (ค.ศ. 1970) ในวันที่ 28 มิถุนายน ที่เมืองนิวยอร์กและอีก 3 เมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก ได้ถือกำเนิด Pride Parade การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศครั้งแรก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สโตนวอลล์ และมีการจัดงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิงข้อมูล : https://edition.cnn.com/2015/06/30/us/rainbow-flagmaker-gilbert-baker/index.html