ไลฟ์สไตล์

เชื่อหรือไม่ว่า การ "เปิดไฟนอน" ขัดขวางเมลาโทนิน เสี่ยงเกิดโรค

เชื่อหรือไม่ว่า การ "เปิดไฟนอน" ขัดขวางเมลาโทนิน เสี่ยงเกิดโรค

08 ก.ค. 2564

เชื่อหรือไม่ว่า การทานอาหารมื้อใหญ่ภายใน 3 ชั่วโมงก่อนนอน รวมถึง การ "เปิดไฟนอน" ขัดขวางการหลั่งของสารเมลาโทนิน ทำให้มีความเสี่ยงเกิดโรค

คนที่หัวถึงหมอนแล้ว “หลับสะบาย” จัดได้ว่าโชคดีสะท้อนให้เห็นว่าสุขภาพกายและสุขภาพจิตแข็งแรงดี แต่ควรเปิดไฟนอน หรือควรเปิดเป็น Night Light หรือไฟหรี่ เหล่านี้สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ จริงหรือเปิดไฟนอนขัดขวางการหลั่งสาร “เมลาโทนิน”เสี่ยงเกิดโรค

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน กรรมการบริหารศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ความรู้ในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปิดไฟนอนตอนกลางคืนว่า เป็นการขัดขวางการหลั่งของสารเมลาโทนินซึ่งหลั่งจากส่วนหนึ่งในสมอง มีความสำคัญต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้นผู้ที่เปิดไฟนอนหรือมีการพักผ่อนที่ไม่ดีอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคอ้วน

“เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน มีหน้าที่ควบคุมการนอนหลับ และระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบเมตาบอลิซึม ระบบประสาทอัตโนมัติ ความดัน ความจำ เมลาโทนินจะถูกยับยั้งโดยแสง ดังนั้นมีโอกาสที่การนอนเปิดไฟจะส่งผลให้เมลาโทนินถูกกด ส่งผลให้นอนไม่ดี และอาจทำให้เกิดโรคต่างๆได้” รศ.พญ.นฤชา ระบุ

การพักผ่อนที่ดีนั้นช่วยเรื่องความจำและการเรียนรู้ ดังนั้นหากเมลาโทนินถูกขัดขวางการหลั่ง อาจส่งผลต่อระบบความจำ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะแรกส่วนหนึ่งพบว่ามีการลดลงของสารเมลาโทนิน

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Internal Medicine ที่ศึกษาในผู้หญิงกว่า 4 หมื่นคน เรื่องการเปิดและปิดไฟนอนที่อาจส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว หลังจากการติดตามในระยะ 5 ปี พบว่าคนที่เปิดไฟนอนมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นกว่าคนที่ปิดไฟนอน

โดยน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 5 กิโลกรัม ดังนั้นความสว่างจากการเปิดไฟนอนจึงมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว

ศ.พญ.นฤชา ให้คำแนะนำว่า ควรปิดไฟให้สนิทก่อนนอน หลีกเลี่ยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีแสง เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ก่อนนอน 1 ชั่วโมง เพราะเป็นการกระตุ้นการตื่นตัวและเป็นการรบกวนการหลั่งสารเมลาโทนิน

ถ้าหากมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดไฟนอน ควรเปิดเป็น Night Light หรือไฟหรี่ นอกจากนี้ควรจะเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกับทุกวัน หลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อใหญ่ภายใน 3 ชั่วโมงก่อนนอน

ขอบคุณที่มา: ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เรื่องน่ารู้กับ 5 ท่านอนที่ดี นอนท่าไหน และ ต้องนอนยังไงให้มีสุขภาพที่ดี

8 ภัยเงียบ"นอนดึก" รู้เท่าทัน ยังไม่สาย

เคล็ดลับสุขภาพดี ต้องทำ 7 สิ่งนี้ หลังตื่นนอนตอนเช้า

หลับภายใน30นาทีคือการนอนที่ดี!!

ไม่ต้องทนนอน 'กรน' อีกต่อไป