หมอโอ๋ แนะรับมือลูกเครียดจาก "เรียนออนไลน์"
การเรียนออนไลน์ เครียดทั้งเด็กและครู หมอโอ๋ แนะรับมือลูกเครียดจาก "เรียนออนไลน์"
เชื่อหรือไม่ว่าเด็กก็มีความเครียดเหมือนผู้ใหญ่ ยิ่งเป็นเด็กในวัยเรียนด้วยแล้วความเครียดก็จะต่างจากเด็กที่วิ่งเล่นทั่วไป ประกอบกับการเรียนรู้ของเด็กยุค2021 ทางออกของการศึกษายุคนี้คิดการเรียนออนไลน์ เด็กจำนวนหนึ่งรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา ไม่สนุก ต้องนั่งเรียนคนเดียว
ความจริงการเรียนออนไลน์ เครียดทั้งครู ทั้งเด็ก และก็ผู้ปกครอง ต่างเครียดพอกันแต่จะมีวิธีไม่ให้รู้สึกเครียดอย่างไร “หมอโอ๋” มีคำแนะนำดีๆมาฝากพ่อแม่ ผู้ปกครองให้คลายความเครียด และความกังวลในเรื่องนี้ได้บ้่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) หรือ หมอโอ๋ ซึ่งเป็นเจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน”ระบุว่า การเรียนออนไลน์จะแตกต่างจากการไปเรียนที่โรงเรียน ซึ่งเด็กจะขาดการติดต่อสื่อสารกับเพื่อน ขาดการสร้างปฏิสัมพันธ์และยังต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนและสถานที่เรียน มานั่งหน้าจอ ยิ่งส่งผลให้ขาดมิติด้านการเชื่อมโยงกับผู้คน ส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา ไม่สนุก ต้องนั่งเรียนคนเดียว
ประกอบกับการเรียนออนไลน์เด็กต้องนั่งอยู่หน้าจอที่มีการตอบโต้กันน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการให้ข้อมูลเพียงทางเดียว นั่นจึงยิ่งทำให้เด็กรู้สึกเหนื่อยล้า เพราะว่าต้องนั่งฟังไปเรื่อยๆ และการอยู่กับหน้าจอตลอดเวลา ทำให้เกิดความล้าทางร่างกายและจิตใจ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ภาวะความเครียดความวิตกกังวลต่างๆ ตามมา
และอีกหนึ่งความรู้สึกที่ทำให้เกิดความกังวล และเครียดเวลาเรียนออนไลน์ก็น่าจะมาจากความไม่พร้อมของอุปกรณ์ เช่นไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กส่วนใหญ่ของประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ความพร้อมของสถานที่เรียนก็เป็นสิ่งที่ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดได้ เพราะบางบ้านมีพี่น้อง 3 คน อยู่ห้องเดียวกัน ก็ส่งผลไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่การฟังครูสอน รวมไปถึงมีพ่อแม่ที่คอยบ่นว่าตำหนิ ทำไมไม่ตั้งใจเรียน นั่งไม่เรียบร้อย คอยเป็น super coach อยู่ข้างๆ ยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับเด็กมากขึ้น
และต้องยอมรับว่า บางทีมันยากที่จะโฟกัสหน้าจอ เวลาที่เด็กไม่มีสมาธิ เขาจะรู้สึกเครียด เรียนไม่ทัน ฟังไม่รู้เรื่อง การบ้านไม่เสร็จ พอไม่มีสมาธิก็โดนพ่อแม่ตำหนิบ่น เป็นวงจรแห่งความเครียด
ประกอบกับการที่เด็กต้องอยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา ซึ่งพ่อแม่ตอนนี้ก็อาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเยอะ ทั้งปัญหาความไม่แน่นอนของชีวิตวัคซีนยังไม่ได้ อาชีพที่ถูกยกเลิก ความไม่แน่นอนของประกาศเปิด-ปิดโรงเรียน มันก็กลายเป็นความเครียดที่ต้องอยู่พื้นที่เดียวกับพ่อแม่ อาจกลายเป็นที่รองรับอารมณ์ของพ่อแม่ได้
นอกจากนี้ยังส่งผลด้านสุขภาวะทางกาย คือ แต่ก่อนอยู่โรงเรียนยังได้พักเบรก เดินไปกินขนมกับเพื่อน เล่นกีฬา ตอนนี้กลายเป็นนั่งอืดๆ อยู่หน้าจอ ช่วงพักก็เปิดเล่นเกมแทน ก็มีผลกับสุขภาพทางกายซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพใจในที่สุด
สุดท้ายที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือการเรียนที่ไม่สนุก จะไปส่งผลต่อ mindset หรือทัศนคติมุมมองที่เด็กมีต่อการเรียนรู้ ถ้าเด็กรู้สึกว่าการเรียนรู้น่าเบื่อ ต้องจดจ่อหน้าจอทั้งวัน โดนครูบ่น โดนแม่ตำหนิ มันจะทำลายล้างวิธีคิดที่ว่าการเรียนทำให้เราสนุก ทำให้เราเติบโต กลายเป็นปัญหาต่อการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต
วิธีการรับมือกับการเรียนออนไลน์ของลูก
พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องลดความคาดหวัง ต้องทำใจให้ได้ว่าการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเด็กบางคน เด็กที่สมาธิไม่ดี เด็กที่การอ่านเขียนไม่คล่อง หรือเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าซักถามเวลาไม่รู้เรื่อง การเรียนออนไลน์ไม่ได้ตอบโจทย์เด็กเหล่านี้
รวมถึงการเรียนออนไลน์ก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน เพราะว่าลักษณะการเรียนรู้บางทีมันน่าเบื่อ ไม่สนุก ไม่มีพลังงานกลุ่มในการที่จะดึง เหมือนเวลาอยู่ในห้อง เพื่อนตั้งใจ เราก็นั่งตั้งใจด้วย มีเวลาทำงานกลุ่ม มีการยืดหยุ่นแทนการนั่งฟังอะไรตลอดวัน ฉะนั้นต้องเข้าใจว่านี่คือเรื่องยากลำบากสำหรับเด็ก ลดความคาดหวังของตัวเราว่าลูกต้องทำได้สมบูรณ์แบบ
หมอโอ๋ อยากฝากพ่อแม่ว่า ที่สำคัญการเรียนออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกเดียว ยังมีการเรียนรู้อื่นๆ มากมายที่เราทำได้ที่บ้าน การเรียนรู้จากการสังเกตภูมิทัศน์รอบตัว ออกไปดูซิว่าบ้านเรามีต้นไม้อะไรบ้างก็เป็นการเรียนรู้ พาลูกอ่านหนังสือก็เป็นการเรียนรู้ พาเขาเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่บ้าน การช่วยเหลือชุมชน เอาหนังสือของเราที่ไม่ใช้ไปให้เด็กๆ ในชุมชนใกล้บ้านเรา เหล่านี้ก็คือการเรียนรู้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชมรมครูฯ ออกแถลงการณ์ ขอเลื่อนเปิดเทอม กรณีโควิด