ไลฟ์สไตล์

"เชื้อดื้อยา" ในเด็กควรป้องกันอย่างไร ก่อนจะสายเกินไป

"เชื้อดื้อยา" ในเด็กควรป้องกันอย่างไร ก่อนจะสายเกินไป

12 ก.ค. 2564

พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีการเฝ้าระวัง "เชื้อดื้อยา" ในเด็ก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง ส่งผลร้ายทำให้ลูกน้อยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีคำแนะนำจาก นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เชื้อดื้อยา หรือ เชื้อแบคทีเรียดื้อยา มีสาเหตุสำคัญจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกวิธี

ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียมีการปรับตัวและพัฒนาการดื้อยาจนไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่เดิม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้ยาและอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้

รวมทั้งยังส่งผลให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลนานยิ่งขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น หรือกรณีรุนแรงที่สุด คือ ไม่มียาปฏิชีวนะใดที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื้อดื้อยา CRE (Carbapenem-Resistant-Enterobacteriaceae) เป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Enterobacteriaceae (แบคทีเรียแกรมลบทรงแท่งที่พบในลำไส้) ที่ดื้อต่อยากลุ่ม Carbapenem ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อ โดยเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ Klebsiella pneumoniae, Escherichia Coli และ Enterobacter spp.

และด้วยลักษณะเฉพาะของเชื้อดื้อยา CRE สามารถอาศัยอยู่ในลำไส้ได้นาน 6-9 เดือน ซึ่งทำให้สามารถก่อโรคไปยังระบบอื่นของร่างกายและแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้

 

 

โดยมักพบการดื้อยาเมื่อร่างกายของคนเรามีความอ่อนแอ หรือ ได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับการป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา CRE ในเด็ก คือ ดูแลบุตรหลานให้ได้รับยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่ง และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ที่สำคัญไม่ซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง เพื่อป้องกันการเกิดแบคทีเรียดื้อยา และเชื้อดื้อยา CRE สามารถแพร่กระจายเชื้อโดยการสัมผัส ผู้ดูแลผู้ป่วย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ญาติ จึงควรหมั่นล้างมืออย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา CRE เมื่อพบอุบัติการณ์การในโรงพยาบาล

ขอบคุณที่มาข้อมูล :สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอแนะ 2 วิธีรักษา "โรคสายตา" ในเด็ก "ตาเข-ตาเหล่" รู้ก่อนรักษาได้

เช็กอาการลูกน้อย เข้าสู่ภาวะ "เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย"หรือยัง

หมอโอ๋ แนะรับมือลูกเครียดจาก "เรียนออนไลน์"

8 อาหาร"บำรุงปอด" ให้แข็งแรง

เช็กอาการ "ภาวะสมองล้า" กับสาเหตุที่เกิด และวิธีรักษา