ไลฟ์สไตล์

ทำไม "เด็กไทย" เกลียดคณิตศาสตร์

ทำไม "เด็กไทย" เกลียดคณิตศาสตร์

16 ก.ค. 2564

ทำไม "เด็กไทย" เกลียดคณิตศาสตร์ คำถามที่ผู้ปกครอง จะพบคำตอบได้จากการสอนการบ้าน

เสียงบ่นจากครู ที่สอนนักเรียน ที่เป็นเด็กไทย และผู้ปกครอง เมื่อต้องสอนลูกด้วยตัวเอง ในช่วงที่เรียนออนไลน์ โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา ทุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า

“ ยาก ”

 

นอกจากครูแล้ว ใครที่เป็นพ่อแม่ ต้องสอนการบ้านลูก หรือสอนลูกที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน ในช่วงนี้ จะเข้าใจว่า คำถามหรือโจทย์ คณิตศาสตร์ มีความซับซ้อน ถามหลายชั้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจในจุดประสงค์ ว่า อยากให้เด็กฝึกการคิด ใช่หรือไม่ แต่มันก็เป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำให้นักเรียนทำไม่ได้ และไม่อยากทำ

 “เพราะเมื่อโจทย์ยากเกินไป นักเรียนก็ไม่ทำเลย”

 

เนื้อหาที่ยากเกินไปนั้น ยังทำให้เด็ก “เกลียดคณิตศาสตร์” เพราะความชอบของคนเรา ย่อมเกิดจากการที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมีความสำเร็จ ก็หมายความว่า ถ้านักเรียนทำโจทย์วิชาคณิตศาสตร์ไม่ได้ มีหรือที่เด็กจะชอบคณิตศาสตร์ เหมือนกับถ้าใครที่ร้องเพลงเพราะ มีคนชม ก็มีแต่อยากร้องไปเรื่อย ๆ และชอบในการร้องเพลง เปรียบได้ในทำนองเดียวกัน

 

ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ พบว่า บางครั้งครูต้องการแค่ให้เด็กเข้าใจในวิธีการ แค่นักเรียนทำได้ รู้หลักการ ก็เพียงพอแล้ว แต่บางครั้งที่นักเรียนเข้าใจวิธีการและหลักการ รู้วิธีทำ แต่ก็ไม่สามารถทำแบบฝึกหัดได้ เพราะยังต้องติดปัญหาอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นระดับความยากของโจทย์หรือตัวเลขที่มีมากเกินไป ทำให้หาคำตอบที่ถูกต้องได้ยากหรือไม่ได้เลย

 

คำถามหลายข้อ แบบฝึกหัดหลายชุด มีความยากเกินกว่าระดับความสามารถของผู้เรียน เหมือนกลัวว่านักเรียนจะตอบได้ หลายๆครั้ง เกินขีดความสามารถและระดับความรู้ของนักเรียนที่เรียนในช่วงชั้นดังกล่าว ยิ่งถ้าคิดแบบปกติ ไม่มีเครื่องมือช่วย ยิ่งจะลำบากเพราะตัวเลขที่ไม่ลงตัว ทำให้นักเรียนที่เข้าใจวิธีการเป็นอย่างดี ก็ยังคิดตัวเลขผิด จนเกิดความท้อ ทั้งครูและนักเรียน

 

ถ้าท่านเป็นครูที่ต้องสอนคณิตศาสตร์หรือผู้ปกครองที่ต้องสอนการบ้านลูก แล้วปวดหัวกับปัญหานี้ ขอแนะนำว่า ในเบื้องต้น แก้ตัวเลขในโจทย์ให้ง่ายลงจะช่วยได้ระดับหนึ่ง ไม่ต้องอิงตามหนังสือมาก ขอแค่เด็กเข้าใจเนื้อหาในเรื่องนั้นก็พอแล้ว

 

จึงมีคำถามว่า การออกแบบหลักสูตรและกำหนดเนื้อหา ให้มีความยาก เพื่อผลักดันให้นักเรียน เกลียดคณิตศาสตร์ มากขึ้น หรือเพื่ออะไร

 

การที่วิชาคณิตศาสตร์ มีข้อสอบที่มหาโหด ไม่ว่าจะเป็นในช่วงเวลาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม ข้อสอบก็ยังออกยากและจัดเต็มอยู่เหมือนเดิม เหมือนจะลืมไปว่า ครูในประเทศไทยทุกคน ไม่ใช่ครูเอกคณิตศาสตร์ ที่จะสอนเด็กไทยได้ตรงตามธรรมชาติของวิชาได้

 

ครูบางคน ต้องสอนคละชั้นหรือสอนมากกว่า 1 ชั้นเรียน บางคนสอนทุกรายวิชา ซึ่งน่าเห็นใจอย่างมาก หรือต่อให้สอนตรงเอก แต่เมื่อเด็กนักเรียน ไม่เคยได้เจอกับครูตรงเอกมาก่อน ก็เกิดปัญหาได้เหมือนกัน

 

เปรียบง่าย ๆ เหมือนเด็กที่ฝึกเดาะบอลกับโค้ชอย่างถูกต้อง มาตลอด 5 ปี กับเด็กที่เพิ่งมาเจอโค้ชในปีสุดท้าย แล้วเพิ่งเริ่มหัดเดาะแค่ปีเดียว คุณคิดว่าใครจะเก่งกว่ากัน

 

หลายต่อหลายครั้งที่ มีเสียงบ่นจากครู เมื่อผู้บังคับบัญชา สั่งว่า ต้องดึงคะแนน O-net คณิตศาสตร์ ให้เพิ่มขึ้นจากเดิม เมื่อนักเรียนเลื่อนชั้นมาเจอกับครู เอกคณิตศาสตร์ ทั้งที่ในปีที่ผ่านมา นักเรียนไม่ได้เรียนกับครูผู้สอน วิชาเอกคณิตศาสตร์ โดยตรง

 

ท่านเข้าใจไหมว่า บางอย่างต้องมีการสั่งสม ดังนั้นต่อให้เป็นครูเอกคณิตศาสตร์โดยตรง แต่กับเด็กนักเรียนที่เพิ่งรู้จักคณิตศาสตร์ จริงๆ จังๆ แค่ปีเดียวมันก็ปวดหัวที่จะให้ได้ผลตามคำสั่ง คณิตศาสตร์ จำเป็นต้องวางรากฐานก่อน ค่อยมาเน้นผลสัมฤทธิ์ ไม่ใช่ว่า อยากทำก็ทำได้เลย

 

ตัวอย่างมีให้เห็นก็เยอะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย หลายคนท่องสูตรคูณไม่ได้ คูณหารไม่คล่อง จนต้องแก้ปัญหา โดยการให้กดเครื่องคิดเลข แทนการย้อนมาสอนเนื้อหาเดิม เพราะจะทำให้ไม่ได้สอนเนื้อหาในชั้นเรียนปัจจุบัน

แต่ก็จะบอกนักเรียน ว่า ถ้าเธอรู้วิธีกดเครื่องคิดเลขจนถูก เธอก็เข้าใจเนื้อหานั้นแล้ว ไม่ต้องเสียใจ ถ้าคิดเองแล้วผิด

 

แม้ว่า จะพยายามสนับสนุนนักเรียนทุกอย่าง ทั้งให้ดูสูตรคูณจากสมุดได้ แก้เลขในข้อให้ง่ายขึ้น ให้ใช้ดินสอคิดได้ แล้วค่อยใช้ปากกาเขียนเมื่อคำตอบถูกต้อง เพื่อเอาชนะหลักสูตรที่มีความยาก จนบางครั้ง ก็สงสัยว่า มันจะยากเกินไปทำไม

นอกจากนี้ เมื่อเนื้อหายาก ก็ทำให้การบ้านยากเกินไปด้วย และมันได้ทำลายสายสัมพันธ์อันดีระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ที่จะสอนการบ้านลูก เมื่อผู้ปกครองสอนไม่ได้ เขาก็ไม่อยากสอน ก็ต้องวิ่งหาโรงเรียนกวดวิชา หรือครูสอนพิเศษ นักเรียนก็เกิดความเครียด เป็นการซ้ำเดิมนักเรียนและผู้ปกครอง สร้างวงจรธุรกิจการศึกษา

 

ต้องย้อนกับมาถามนักวิชาการการศึกษาทั้งหลายว่า แท้จริงแล้วเราต้องการเนื้อหาวิชาที่ยาก แล้วทำให้นักเรียนบางคนเก่ง หรือต้องการเนื้อหาวิชาที่ง่าย แต่ทำให้นักเรียนหลายคน รักในวิชาคณิตศาสตร์ อย่างไหนที่ควรทำมากกว่ากัน

 

อย่าลืมว่า ถ้าเด็กไทยหรือนักเรียนรักคณิตศาสตร์แล้ว ต่อไปโจทย์ยากแค่ไหนเขาจะไปหามาทำต่อเองไม่ต้องบังคับ แต่ถ้านักเรียนเกลียดคณิตศาสตร์แล้ว เนื้อหาจะมีประโยชน์แค่ไหนเขาก็ยังไม่อยากเรียน

 

ความยากของเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ อาจจะถูกกำหนดไว้สำหรับนักเรียนทีเก่งและมีความเป็นเลิศ แต่อย่าลืมกลุ่มนักเรียนหลังห้อง หรือเด็กไทยบางกลุ่มที่ไม่อยากเข้าเรียน เพราะ เกลียดคณิตศาสตร์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

"เรียนออนไลน์"พบทั้งครูและนักเรียนร้อยละ 50 ไม่พร้อม

"ครูไทย" ไม่เคย เวิร์คฟอร์มโฮม

"เรียนออนไลน์ทั้งปี" รับมือโควิด-19 อยู่อีกยาวนาน