
"ใส่หน้ากากอนามัย" อย่างไร ไม่ให้เกิดสิวเห่อจนหมดสวย
"หน้ากากอนามัย" กลายเป็น"ของมันต้องมี" เอาติดไว้ทุกทีทุกจุด ทั้งในบ้าน ในรถ ในที่ทำงาน เป็นของจำเป็นที่ต้องมี ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แม้ไม่มีก็ต้องสรรหามาให้ได้
แต่จะมีหน้ากากอนามัยกี่แบรนด์กันนะที่เราใส่แล้วไม่อึดอัด ไม่รำคาญ ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อใส่หน้ากากอนามัยแล้ว ไม่ทำให้บนหน้าหมดสวยเพราะสิวเห่อ วันนี้ “คมชัดลึกออนไลน์” มีคำแนะนำมาฝากกันจ๊า
การใส่หน้ากากอนามัย (mask) อย่างไรไม่ให้เป็นสิวเห่อนั้น ผื่นที่สัมพันธ์กับการใส่หน้ากากสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1.ผื่นที่เกิดจากการสัมผัส ซึ่งอาจเป็นการระคายเคืองเช่นการกดทับ เสียดสี หรือการแพ้จากสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ของหน้ากาก
2.และอีกกลุ่มหนึ่งคือ ผื่นของโรคผิวหนังที่อาจมีอยู่เดิม และเป็นมากขึ้นจากการใส่หน้ากาก โรคที่พบบ่อยได้แก่ สิว,ผิวหนังอักเสบโรซาเชีย,ผิวหนังอักเสบซีโบเรอิก และผิวหนังอักเสบอะโทปิก
โดยเฉพาะสิวที่มีสัมพันธ์กับการใส่หน้ากากอนามัยเท่านั้น จากรายงานส่วนใหญ่พบว่าการใส่หน้ากากอนามัยจะกระตุ้นสิวให้กำเริบและมีอาการที่แย่ลง แต่ส่วนน้อยพบว่าทำให้เกิดโรคเหล่านี้โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติสิวมาก่อนเลย
ทั้งนี้สิวที่เป็นมักจะมีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ปัจจัยที่พบว่ามีความสำคัญคือ เพศหญิง การมีสิวอยู่แล้วและยังควบคุมได้ไม่ดีและการใส่หน้ากากอนามัยที่ต่อเนื่องกันเกิน 4-6 ชั่วโมง(ชม.)
คำแนะนำสำหรับประชาชนโดยทั่วไปในการป้องกันไม่เกิดสิวเห่อจากการใส่หน้ากากอนามัย คือควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาสิวให้เข้าที่และสงบให้เร็วที่สุด ร่วมกับการดูแลสภาพผิวหนังให้แข็งแรง
โดยการทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์อ่อนโยนและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นที่ไม่ก่อให้เกิดสิวอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเนื้อหนา เช่นPetrolatumหรือMineral Oil
ไม่เพียงเท่านั้น ควรรอให้ครีมที่ทาแห้งสนิทก่อนสวมใส่หน้ากากอนามัย ประมาณอย่างน้อย30นาที ส่วนชนิดของหน้ากากที่ใส่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล แต่ไม่ว่าหน้ากากอนามัยเป็นชนิดไหน อย่างน้อยควรมีการถอดหรือเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุก 4-6 ชม. แต่ต้องไม่กระทบต่อความเสี่ยงติดเชื้อ
เมื่อเกิดสิวเห่อทำอย่างไร
เมื่อเป็นสิวแล้วแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและเหมาะสม โดยแพทย์ผู้รักษาควรระวังในการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ เนื่องจากจะมีโอกาสระคายเคืองได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณที่ใส่หน้ากากอนามัย
แนะนำให้เริ่มจากยาชนิดที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและความเข้มข้นที่ต่ำก่อน และให้พิจารณายาทาเฉพาะที่สิว เช่นการแต้มยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์หรือกรดซาลิไซลิกเฉพาะบริเวณที่เป็นสิว เพื่อลดการระคายเคืองของผิวหนังข้างเคียง
ยาทาในกลุ่มที่เป็นเนื้อแป้งจะช่วยทำให้ผิวหนังที่ชื้นจากการใส่หน้ากากแห้งได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่เป็นระดับปานกลางถึงรุนแรงให้พิจารณาให้ยารับประทานได้ตามความเหมาะสม
หลีกเลี่ยงหรือลดการแต่งหน้าบริเวณที่สวมใส่หน้ากากอนามัย
ส่วนปัญหาเครื่องสำอางหรือครีมบำรุงติดหน้ากากอนามัย เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและอาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจในผู้ป่วยบางคน ทางออกสำหรับปัญหานี้คือให้หลีกเลี่ยงหรือลดการแต่งหน้าที่มากเกินไปในบริเวณที่สวมใส่หน้ากากอนามัย
โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาสิว หรือกำลังรักษาด้วยยาทารักษาสิวอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะทำให้หลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องที่หน้ากากอนามัยติดเครื่องสำอางแล้ว ยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น สิวที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ หรือการระคายเคืองของสิวและผิวหนังจากการทำความสะอาดใบหน้าส่วนครีมบำรุงควรพิจารณาเลือกเนื้อที่เป็นเจลหรือโลชั่นในคนที่มีผิวมัน และให้เป็นเนื้อครีมสำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวแห้งอยู่แล้ว
นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นที่ต้องแต่งหน้า แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทรองพื้น(foundation)และแป้งที่มีเนื้อหนา และเน้นการแต่งหน้าบริเวณที่ไม่ได้ปกปิดด้วยหน้ากาก เช่น รอบดวงตา แทน
หลีกเลี่ยงทาครีมแดดบริเวณที่ใส่หน้ากากอนามัย
ส่วนปัญหาการทาครีมกันแดดบริเวณที่ใส่หน้ากากอนามัย อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพ้หรือทำให้สิวเห่อมากขึ้นเช่นเดียวกับเครื่องสำอาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของครีมกันแดดที่ใช้และสภาพผิวหนังของผู้ใช้ คำแนะนำ คือ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดบริเวณที่ใส่หน้ากาก
และใช้หน้ากากที่ทำจากผ้าที่มีคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวี(Ultraviolet protective factor, UPF)ตั้งแต่50ขึ้นไป และควรมีจำนวนเส้นด้ายที่มากและทอแบบแน่น ส่วนบริเวณอื่น ๆ อาจพิจารณาทาครีมกันแดดได้ตามปกติ
ขอบคุณที่มาข้อมูล...สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลดความเครียด"ด้วยการกิน กับเมนู14 ชนิด
ส่อง 4อาชีพ "สายแพทย์ทางเลือก" ใหม่ที่มาแรง
ระวัง "10 จุดเสี่ยง" เลี่ยง COVID-19 ในรถยนต์