
ย่ำลาวใต้สุดแดนแขวงจำปาสักดูโครงการวิจัย"มูลนิธิชัยพัฒนา"
ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาสถานีวิจัยที่เคยใช้ศึกษาค้นคว้าด้านการเกษตร ณ เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว)
เพื่อให้เป็นสถานีวิจัย ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านการเกษตรและทรัพยากรป่าไม้แก่บุคลากรและประชาชน ส.ป.ป.ลาว
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และคณะวนศาสตร์ ได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยจำปาสัก เดินทางไปสำรวจพื้นที่เพื่อการพัฒนาเป็นสถานีวิจัยการเกษตรและทรัพยากรป่าไม้ ณ เมืองปากเซ โดยสรุปสถานที่มีเพียง 2 แห่ง ที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นสถานีวิจัยได้คือ สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยจำปาสักและศูนย์ค้นคว้ากสิกรรมและป่าไม้ ภาคใต้ สังกัดกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ส.ป.ป.ลาว
อาทิตย์นี้ทีมงาน "ท่องโลกเกษตร" ได้ลัดเลาะไปยังลาวใต้ ที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก เพื่อดูความก้าวหน้าของโครงการวิจัยของมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยจำปาสักและกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ส.ป.ป.ลาว โดยผ่านทางศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนดำเนินการจัดตั้งสถานีวิจัยฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านการเกษตรและทรัพยากรป่าไม้แบบครบวงจรแก่บุคลากรและประชาชน ส.ป.ป.ลาวในอนาคตข้างหน้า
โดยมี รศ.ดร.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะในการเดินทางครั้งนี้ ซึ่งสถานที่แห่งแรกคือ สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยจำปาสัก ตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างแขวงจำปาสักและแขวงเซกอง ห่างจากมหาวิทยาลัยจำปาสัก ประมาณ 50 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่สามารถขอใช้ประโยชน์ได้ในเบื้องต้นประมาณ 600 ไร่เศษ หรือ 100 เฮกตาร์ มีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับกับไหล่เขาและเนินเขา มีระดับความสูงประมาณ 1,100-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเมืองปากเซยินดีให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวพัฒนาเป็นสถานีวิจัยฯ ตามแนวพระราชดำริ
สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่บริเวณนี้ เป็นป่าดิบเขาระดับต่ำ เคยใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรด้วยการเลี้ยงสัตว์มาก่อนในอดีต ส่วนลักษณะทางธรณีวิทยาพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีการระเบิดของภูเขาไฟมาก่อน ซึ่งยังคงพบร่องรอยของหินพรุนอยู่ ส่งผลให้พื้นที่เหล่านี้ มีลักษณะเป็นรูปโดมและมีสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์แตกต่างไปจากพื้นที่บริเวณอื่นๆ ที่มีวัตถุต้นกำเนิดดินเป็นหินทราย
จากการศึกษาสำรวจของทีมคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2551 และวันที่ 23-24 มกราคม 2552 โดย รศ.ดร.ศรปราชญ์ ธไนศวรรยางกูร รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ดร.ดำรง ศรีพระราม คณบดีคณะวนศาสตร์ และดร.สมศักดิ์ ทับทิมทอง ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์และคณะ พบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยจำปาสักมากเกินไป อยู่ในรัศมีประมาณ 50 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700-1,200 เมตร โดยเป็นพื้นที่ที่ต้องมีการพัฒนาและสร้างความพร้อมหลายด้าน ที่ผ่านมาคณะวนศาสตร์ได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำแผนผังพื้นที่เพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยจำปาสักและเสนอผู้เกี่ยวข้องพิจารณามาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนสถานที่แห่งที่สอง เป็นที่ตั้งของศูนย์ค้นคว้ากสิกรรมและป่าไม้ภาคใต้ สังกัดกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานีที่ทำการศึกษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับการปลูกและการใช้ประโยชน์กาแฟ ตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างแขวงจำปาสักและแขวงเซกองเช่นกัน มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา มีระดับความสูงประมาณ 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีศักยภาพและความพร้อมในการเป็นสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีพื้นที่สูง โดยปัจจุบันมีอาคาร สถานที่วิจัย สถานที่ฝึกอบรม หอพักและโครงการระบบสาธารณูปโภคต่างๆ พร้อมแล้ว
รศ.ดร.ศรปราชญ์ ธไนศวรรยางกูร รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยถึงภารกิจหลักในการดำเนินงานของศูนย์ค้นคว้ากสิกรรมและป่าไม้ว่า จะเน้นการฝึกอบรมด้านการปลูกและการแปรรูปกาแฟ ซึ่งขณะนี้ได้พิจารณาเห็นว่า การพัฒนาพื้นที่แห่งนี้น่าจะสามารถดำเนินการได้โดยเร็วและใช้ต้นทุนการพัฒนาต่ำกว่าสถานที่แรก
นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับศูนย์ค้นคว้ากสิกรรมและป่าไม้ ภาคใต้ของ ส.ป.ป.ลาว โดยผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจำปาสัก ซึ่งในระยะแรกอาจเป็นการนำผลการศึกษาและพัฒนาจากโครงการหลวงมาศึกษาเชิงเปรียบเทียบและวิจัยเพื่อปรับใช้กับพื้นที่ของแขวงจำปาสัก
ทั้งนี้ยังสามารถพัฒนาความร่วมมือเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบพืชพรรณที่สามารถใช้ประโยชน์และมีโอกาสพัฒนาทางการค้าได้ เช่น ไผ่ สตรอเบอร์รี่ และพลับ เป็นต้น นอกจากนั้น คณะวนศาสตร์ยังพร้อมดำเนินการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการนำไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ที่มีการปลูกและใช้ประโยชน์อยู่ในประเทศไทยไปทดลองปลูกในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ต่อไป
นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือในภารกิจงานภาคการเกษตรระหว่างประเทศไทยและ ส.ป.ป.ลาวเพื่อสนองแนวพระราชดำริ โดยมีเป้าหมายหลักยกระดับให้เป็นสถานีวิจัย ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านการเกษตรและทรัพยากรป่าไม้ แก่บุคลากรและประชาชน ส.ป.ป.ลาวนั่นเอง
สุรัตน์ อัตตะ