ไลฟ์สไตล์

วอนกอบกู้การศึกษา "รมว.ศธ."ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะเรียนต่อหรือพอแค่นี้

วอนกอบกู้การศึกษา "รมว.ศธ."ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะเรียนต่อหรือพอแค่นี้

22 ก.ค. 2564

วอนกอบกู้การศึกษา "รมว.ศธ."ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะเรียนต่อหรือพอแค่นี้ อย่าให้คนนอกมองว่าชื่อชั้นระดับ "ตรีนุช เทียนทอง" อยู่ในตำแหน่ง "รัฐมนตรีศึกษาฯ" เพื่อรอวันจาก..

ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ มีหลายจังหวัดที่ ศบค.จังหวัด ประกาศปิดโรงเรียน ยกจังหวัด บางจังหวัดปิดยาวไม่มีกำหนด บางจังหวัดปิด 7 วัน 14 วัน แตกต่างกันไป ตามที่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ชอบอ้างและหวังให้เป็นเช่นนั้น คือ เป็นไปตามดุลพินิจ และบริบท ของแต่ละพื้นที่

 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีคำถามย้อนกลับมาว่า การที่นักเรียนบางจังหวัดหยุดเรียน บางจังหวัดได้เรียน แม้จะไม่ต่อเนื่องเพราะเปิดเรียนมาตอนไหนก็มีผู้ปกครองหรือนักเรียนติดโควิด ทำให้ต้องปิดเรียนอีกรอบอยู่ร่ำไป จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา อย่างที่ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ชอบกล่าวถึงหรือไม่

เมื่อการจัดการเรียนการสอนไม่มีความแน่นอน การสั่งการที่ไม่ชัดเจน ชอบผลักภาระให้กับผู้ปฎิบัติโดยอ้างดุลพินิจและบริบทในแต่ละพื้นที่ เมื่อ "ตรีนุช" อาสาเข้ามารับหน้าที่ "รมว.ศธ." ต้องทราบถึงบริบทของกระทรวงศึกษาธิการ แบบองค์รวม หรือ ภาพใหญ่ ที่ควรจะเป็น

และเมื่อถึงเวลาคับขัน "รมว.ศธ." ต้องสามารถตัดสินใจเลือกแนวทาง ที่จะทำให้การศึกษาของชาติได้รับผลกระทบและเสียหายน้อยที่สุด เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้เดินหน้าต่อไป

ไม่ใช่การสั่งการแบบที่เป็นอยู่ กระทรวงศึกษาธิการมอบให้โรงเรียน ใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจตามบริบทของแต่ละพื้นที่ แปลตามตรงมันคือการผลักภาระ การข้ามขั้นตอน จากสูงสุด ไปถึงระดับปฏิบัติในคราวเดียว แล้วจะมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)เอาไว้ทำไม

ระยะเวลาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นมาแล้วเกือบ 3 ปี ไม่รู้กี่ ระลอก กระทรวงศึกษาธิการก็ทำได้แค่ สำรวจข้อมูล ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทาง ไม่เคยมีความชัดเจนในวิธีปฏิบัติ ทำให้ผู้เรียนเสียโอกาส และมองไม่เห็นอนาคตของการศึกษาไทย

อยากขอให้ "ผู้บริหารระดับสูง" หรือ " 5 เสือศธ." งดกิจกรรมที่ไม่สำคัญ ติดตามการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตพื้นที่และโรงเรียนอย่างจริงจัง เป็นไปได้อาจจะแอบมาดูในพื้นที่บ้างก็ได้ อาจจะทำให้ "5เสือศธ." เปลี่ยนทัศนะคติในการทำงานบ้างก็ได้ อย่าเชื่อในสิ่งที่ท่านได้ฟังจากข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ลองพิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วจะเห็นความจริง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการทำงานของครูและบุคลกากรทางการศึกษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทุกข้อมูลที่ "รมว.ศธ." ได้รับทราบจากรายงานของข้าราชการผู้ใกล้ชิด เปรียบไม่ได้แม้เสี้ยวหนึ่งของความจริง

การสั่งการแบบบังคับ จะเอาให้ได้ ต้องเป็นแบบนี้ เพื่อเอาใจเจ้านายระดับสูง ยกตัวอย่าง เช่น การประเมินความพร้อมของโรงเรียน ผ่าน Thai stop covid+ ถ้าผลการประเมินโรงเรียนเป็นสีเขียวทั้งประเทศแบบที่รมว.ศธ.ได้รับรายงานแล้วทำไมนักเรียนติดโควิด-19

การที่ท่านมีคำสั่งให้ครู เวิร์คฟอร์มโฮม ในระดับสูงสุด ขอค้านว่า ไม่มีโอกาสเป็นจริง ท่านแอบมาที่โรงเรียนไหนก็ได้ที่ใกล้ที่สุด รมว.ศธ.จะพบว่า ครูปฏิบัติงานที่โรงเรียนครบทุกคน แม้กระทั้งเรียนออนไลน์ สอนออนไลน์ครูก็ต้องมาสอนออนไลน์ที่โรงเรียน ส่วนเด็กนักเรียนก็ให้เรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านกับครอบครัว แล้วแบบนี้รมว.ศธ.จะแก้ปัญหายังไง

นอกจากนั้นยังมีสถานศึกษาที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการอีกมากมาย ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามแนวทางของ ศบค. มีสถานศึกษาบางแห่งในระดับอาชีวะศึกษา กักตัวนักศึกษาไว้นานนับเดือน เพื่อที่จะรอเรียนภาคปฏิบัติ หรือ ON-SITE โดยไม่สนใจต่อสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงและเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

วอนกอบกู้การศึกษา “รมว.ศธ.”ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด ก่อนที่จะสายเกินไปว่าจะเรียนต่อหรือพอแค่นี้ อย่าให้คนนอกมองว่าชื่อชั้นระดับ "ตรีนุช เทียนทอง" อยู่ในตำแหน่ง "รมว.ศธ." เพื่อรอวันจากไปเท่านั้น นะขอบอก!!

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลอกครูและคนทั้งประเทศ 'เลื่อนการเปิดเทอมทิพย์' อีกแล้ว

ไม่คิดว่าจะมีอยู่จริง "ครูธุรการ" ลูกจ้างนอก ม.33 ของกระทรวงศึกษาธิการ

ชาวเน็ตวิจารณ์หนัก "นักเรียนติดโควิด-19" ครูถูกกักตัว ไม่มีใครดูแล

"ครูไทย" ไม่เคย เวิร์คฟอร์มโฮม

"โรงเรียนชื่อดัง" ล็อกดาวน์โควิดประกาศ "ลดคาบเรียนออนไลน์"