ไลฟ์สไตล์

ขอเถอะ "การเรียนยุคโควิด19" ไม่เน้นผลสัมฤทธิ์ แต่เน้นผู้เรียนมีความสุข

ขอเถอะ "การเรียนยุคโควิด19" ไม่เน้นผลสัมฤทธิ์ แต่เน้นผู้เรียนมีความสุข

25 ก.ค. 2564

รูปแบบการสอนที่เปลี่ยนไป ในสถานการณ์ที่มีความยุ่งยากในการจัดการเรียนการสอน "การเรียนยุคโควิด19" เราเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของการเรียน จากเกรดและผลสัมฤทธิ์ มาเป็น การเรียนแบบเน้นให้ผู้เรียนมีความสุขจะได้ไหม

บทบาท ระหว่าง ครูจริงๆ กับครูออนไลน์ แตกต่างอย่างสิ้นเชิง จากการที่เป็นครูอยู่หน้ากระดานดำเกือบครึ่งชีวิต อีกไม่กี่ปีก็จะเกษียณอายุราชการ และด้วยธรรมชาติของวิชาที่รับผิดชอบ คือ คณิตศาสตร์

 

ทำให้บทบาทการสอนเคร่งเครียดไปตามเนื้อหาวิชา ดุกันนิด เคาะกันหน่อย อาจมีเสียงดังกันบ้าง หลายคนก็คงจะเคยผ่านมา ครูคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ จะไม่ใช่ครูอารมณ์ดี ไม่เหมือนครูพละ ครูศิลปะ ครูดนตรี ที่นักเรียนต่างก็ชื่นชอบ

 

เมื่อต้องถึงคราวที่สอนออนไลน์กันยาวๆ ก็ไปไม่เป็น ไลฟ์สดยังไง แล้วจะเอาอุปกรณ์ที่ไหน จะต้องสอนเวลาไหน จะตรวจแบบฝึกหัดยังไง กลายเป็นปัญหาไปหมด

 

จะว่าทำไม่เป็นก็ใช่ จะว่าไม่ปรับตัวก็ยอมรับ เลยต้องมาหาเหตุผล สนับสนุนแนวคิดของตัวเอง เช่น หลักสูตรมันไม่เอื้อ เนื้อหามันเยอะ กลัวเด็กไม่เข้าใจ ก็ว่ากันไป

ว่ากันตามส่วน หลักสูตรการศึกษาของไทย เน้น ปริมาณของเนื้อหา เน้นเวลาเรียน ในระยะเวลา 1 ปีการศึกษา ครูต้องสอนให้ครบตามหลักสูตร ครบทุกหน่วยการเรียนรู้ ครบทุกตัวชี้วัด และเวลาเรียนต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด หมายความว่า

 

ถ้าใน 1 ปี กำหนดเนื้อหาไว้ 6 เรื่อง นักเรียนก็ต้องเรียนครบทั้ง 6 เรื่อง ครูก็จำเป็นต้องสอนให้ครบเหมือนกัน ถ้าใน 1 ปี มีเวลาเรียน 200 วัน นักเรียนต้องมาเรียนในชั้นเรียนไม่น้อยกว่า 160 วัน เพื่อที่จะให้ผ่านตามเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนด

 

แต่หลักสูตรการเรียนการสอน ไม่เคยสนใจว่า นักเรียนอยากเรียนอะไร อยากเรียนกี่วัน หรือถ้าเรียนวิชานี้แล้วผมไม่เข้าใจขอเรียนวิชาอื่นแทนได้ไหม นักเรียนบางคนอาจจะไม่ชอบคณิตศาสตร์ ขอไปเรียนศิลปะแทนได้ไหม

 

หรือบางคนไม่ชอบออกกำลังกายขอเรียนคอมพิวเตอร์แทนได้ไหม นักเรียนบางคนไม่อยากมาโรงเรียนแค่ขอมารับงานแล้วไปเรียนเองที่บ้านได้ไหม สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในโรงเรียนของประเทศไทย

 

ที่ผ่านมา เราภูมิใจนักหนาว่า เรามีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ลองมองย้อนว่า ปัจจุบันเป็นแบบนั้นไหม ทุกอย่างเต็มไปด้วยข้อจำกัด ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ การทดสอบ การประเมิน ประเมินนักเรียน ประเมินครูผู้สอน ประเมินผู้อำนวยการโรงเรียน ประเมินโรงเรียน ประเมินเขตพื้นที่การศึกษา แล้วนักเรียนได้อะไร

ยิ่งถึงวันที่ต้องมาสอนออนไลน์กันยาวๆ ครู โรงเรียนและผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ไม่ว่ายุคไหนรวมทั้งยุค ดร.อัมพร  พินะสา เลขาธิการกพฐ.คนปัจจุบัน กลับมีความเป็นห่วงในเรื่องของเนื้อหา การวัดผล

 

แต่ในความเป็นห่วงนั้นกลับไม่แตะต้องโครงสร้างหลักสูตร ไม่มีการวิเคราะห์ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ ยังคงเน้นในเรื่องของเวลาเรียน จนต้องจัดสอนชดเชยกันแบบไม่คิดชีวิต ไม่เคยคิดว่า นักเรียนจะรับได้ไหม 

 

นอกจากนั้นยังคงมีปัจจัยภายนอกที่คอยจับจ้อง ความคาดหวังจากผู้ปกครอง ค่านิยมที่เราสร้างกันไว้ เกรดต้องดี ต้องสอบได้ลำดับต้นๆ ต้องได้เรียนต่อในสถานบันที่มีชื่อเสียง

 

ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่เคยมีความคิดเห็นและความต้องการของผู้เรียน เป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลย

 

นักเรียนยังคงเป็นผู้เรียนที่ต้องเรียนตามที่นักวิชาการที่เป็นผู้ใหญ่ตีกรอบให้ ไม่เคยมีทางเลือก ไม่เคยได้ค้นหาตัวเอง จะมีใครสักกี่คนที่มีความสุขกับการเรียน

 

ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโลนา 2019 (COVID-19)หรือโควิด-19 อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ที่เราไม่สามารถคาดหวังกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนได้ แต่อยากให้ผู้บริหารการศึกษาและผู้มีส่วนร่วมทุกท่าน ได้คาดหวัง กับความสุขในการเรียนของผู้เรียนกันบ้าง ก็จะเป็นการดี

 

ถึงเวลาแล้วยัง ที่จะถามนักเรียนว่า “อยากเรียนแบบไหน ที่จะทำให้มีความสุข” ในยุคโควิดครองเมือง

 

ขอเถอะการเรียนยุคโควิด ไม่เน้นผลสัมฤทธิ์ แต่เน้นให้ผู้เรียนมีความสุข เรียนแล้วเพิ่มทักษะชีวิตและผู้เรียนสามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน