ส่องประโยชน์ "มะตูม" ผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยา มากกว่าแค่ช่วยดับกระหาย
ส่องประโยชน์ของ "มะตูม" ผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยา มากกว่าแค่ช่วยดับกระหาย
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงชอบกินน้ำมะตูมกัน ยิ่งใส่น้ำแข็งกินเย็น ๆ แล้วชื่นใจ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงสรรพคุณหรือประโยชน์ของมะตูมว่ามีอะไรบ้าง วันนี้เราเลยหาคำตอบมาให้แล้ว
"มะตูม" เป็นผลไม้ที่มีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย เป็นพันธุ์ไม้มงคลประจำจังหวัดชัยนาท และยังถือว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ โดยคนไทยนั้นเชื่อว่าใบมะตูมสามารถใช้ป้องกันภูตผีหรือสิ่งอัปมงคลได้ ทั้งนี้มะตูมยังจัดว่าเป็นทั้งผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย
ประโยชน์ของมะตูม มะตูมประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิด เช่น แทนนิน ไกลโคไซด์ เตอร์ปีนอยด์ ฟีนอล และควิโนน ราก ใบ และเปลือกของต้นมะตูมนิยมนำมาต้มดื่มเป็นยาระบาย ลดไข้ หรือขับเสมหะ ผลสามารถนำมารับประทานได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง, นำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มได้ด้วยการนำผลมะตูมไปผสมกับมะขาม เมื่อกรองได้น้ำและนำมาเติมน้ำตาลจะได้เครื่องดื่มที่มีรสชาติคล้ายกับมะนาว, ใบอ่อนของมะตูมนำมารับประทานเป็นผักสลัดได้ หรือจะนำใบอ่อนมาใช้กินกับน้ำพริกหรือลาบก็ได้
ส่วนผลแก่แต่เปลือกยังนิ่ม เมื่อนำมาฝานสามารถนำมาทำเป็นมะตูมเชื่อมได้ และมะตูมสุกมีเนื้อเละสามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้ นอกจากนี้ "มะตูม" ยังใช้เป็นส่วนผสมของขนมหลายชนิด อาทิ เค้กมะตูม วุ้นมะตูม ทาร์ตมะตูม เป็นต้น
สรรพคุณของมะตูมทางด้านการบำรุงร่างกายหรือรักษาอาการของโรค มีดังนี้
- ผลแก่แต่ไม่สุกใช้รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกาย รักษาธาตุ บำรุงธาตุไฟ
- ช่วยรักษาอาการท้องร่วง ท้องเดิน โรคลำไส้
- แก้ลม แก้มูกเลือด
- ผลสุกสามารถนำมาใช้เป็นยาระบายได้
- ช่วยรักษาอาการหลอดลมอักเสบ
- ใช้รักษาอาการท้องผูกเรื้อรังได้
- ใบสดนำมาคั้นเอาน้ำ ใช้แก้หวัด
- เปลือกรากและลำต้นจะช่วยแก้อาการไข้จับสั่น
บริโภคมะตูมอย่างไรให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ
- ไม่ควรรับประทานมะตูมมากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้มีอาการท้องไส้ปั่นป่วนและท้องผูกได้
- หยุดบริโภคมะตูมก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงระหว่างและหลังการผ่าตัด
- ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้มะตูมเป็นยาร่วมกับยารักษาเบาหวาน เนื่องจากอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไปได้
- สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนนำมะตูมมาใช้รักษาอาการป่วย เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลทางการแพทย์เพียงพอต่อการรับรองความปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย