ไลฟ์สไตล์

ทำไมใครไม่เข้าใจ "วัยรุ่น" ก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น เกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไร

ทำไมใครไม่เข้าใจ "วัยรุ่น" ก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น เกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไร

08 ส.ค. 2564

เกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไร "วัยรุ่นไทย" ทำไมพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงมากขึ้น เช็คอาการบ่งชี้เบื้องต้นเข้าข่ายเป็นโรคจิตเภทหรือไม่

ปัจจุบันจะพบเห็นการกล่าวถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรงของ "วัยรุ่น" ไม่มากก็น้อย โดยที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับกับการแสดงออกทางความคิดของพวกเขา วัยรุ่น ถือเป็นช่วงสุดท้ายของการรู้จักและสร้างตัวตนก่อนที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพที่ชัดเจนและมั่นคงตามหลักจิตวิทยา ถือเป็นช่วงเครียดและหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นเรื่องปกติและจำเป็นที่วัยรุ่นจะแสวงหาและทดลองประสบการณ์ต่าง ๆ บางครั้งเป็นประสบการณ์ที่ต่อต้านกฎเกณฑ์ เดิม ๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นรับรู้มา โดยจะผูกพันกับกลุ่มเพื่อนมากที่สุด

 

 

เหตุที่ "วัยรุ่น" มีพฤติกรรม ก้าวร้าว รุนแรง มีอยู่ 3 ปัจจัย ดังนี้

  1. ปัจจัยภายนอก หรือ ปัจจัยทางสังคม เช่น เด็กมีโอกาสที่จะพบกับความรุนแรงมากขึ้นผ่านทางสื่อ เกมส์ ภาพยนตร์ และข่าวต่าง ๆ (ข่าวที่มีความรุนแรงซ้ำ ๆ บ่อย ๆ) เพราะมีตัวอย่างจากงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาฉบับหนึ่ง พบว่า เมื่อเด็กอายุ 3 ปี ดูวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องที่มีความก้าวร้าว กับอีกคนหนึ่งที่ดูวิดีโอสารคดี แล้วสังเกตพฤติกรรมของเด็ก เมื่อทดลองหยิบของจากมือของเด็ก พบว่า เด็กที่ดูวิดีโอภาพที่ก้าวร้าวจะแสดงอาการเหวี่ยงตัว ไม่พอใจมากกว่าเด็กที่ดูวิดีโอสารคดี
  2. ปัจจัยทางครอบครัวและคนใกล้ชิด พบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่ทะเลาะเบาะแว้ง ใช้ความรุนแรง แตกแยก เด็กมีแนวโน้มที่จะแสดงความรุนแรงมากขึ้น
  3. ปัจจัยในตัวเด็กเอง เช่น แนวโน้มของบุคลิกภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ได้แก่ ระดับสติปัญญา ภาวะทางสมอง เช่น สมาธิสั้น ออทิสติก และแนวโน้มของอุปนิสัยก้าวร้าว เนื่องจาก พื้นฐานอารมณ์

 

ผู้ใหญ่มีส่วนช่วยวัยรุ่นได้อย่างไร

  • ผู้ใหญ่จะมีส่วนช่วยได้มาก คือ ต้องเข้าใจและยอมรับพัฒนาการของวัยรุ่น ช่วยหาโอกาสให้เค้าได้เรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ และคอยระวังประสบการณ์ที่อันตราย โดยให้คำปรึกษาให้วัยรุ่นเข้าใจว่าเพราะเหตุใดทำไมถึงอันตราย ช่วยให้วัยรุ่นมีกลุ่มที่สนิทสนม และดูแลกันภยันอันตรายต่าง ๆ เช่น ยาเสพติด

อาการบ่งชี้เบื้องต้นเข้าข่ายเป็นโรคจิตเภท

  1. พฤติกรรมและอุปนิสัยที่เปลี่ยนไป เช่น แยกตัว ก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น
  2. ความสามารถลดลง เช่น ผลการเรียนต่ำลง
  3. มีความเชื่อในสิ่งที่แปลกไป เช่น สนใจศาสนาอย่างลึกซึ้งกว่าปกติ , เชื่อเรื่องจิตวิญญาณมาก
  4. มีความคิดหวาดระแวง ซึ่งอาจคล้ายกับอาการวิตกกังวล จนเกินกว่าเหตุ

ในบางรายอาจไม่มีการเตือน แต่มีความผิดปกติของการรับรู้ เช่น มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ทำร้ายตนเอง ซึ่งหากพบมีอาการต่าง ๆ ตามที่กล่าวมานี้ ควรรีบพามาพบแพทย์ โดยด่วน ซึ่งจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อแยกโรคทางระบบประสาท หรือสมองบางชนิด หรือ เป็นผลจากการใช้สารกระตุ้น เช่น แอมเฟตามีน

 

 

สิ่งสำคัญ

ครอบครัวและคนใกล้ชิด มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อภาวะจิตใจของวัยรุ่น รวมทั้งมีส่วนช่วยในหลายประเด็น ดังนี้

  • เป็นตัวอย่างของคนที่มีสุขภาพดี มองโลกในแง่ดี แก้ปัญหาด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ เป็นตัวอย่างของการให้อภัย การใช้ความรัก
  • ผู้ปกครองต้องมีบทบาทในการจัดการสิ่งแวดล้อมของวัยรุ่น ให้มีความรุนแรงน้อยลง มีความเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น
  • เป็นที่ปรึกษาในกรณีวัยรุ่นเกิดปัญหา หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกินกว่าที่จะดูแลได้ ควรรีบพามาปรึกษาแพทย์

ข้อมูล : โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์