ไลฟ์สไตล์

รู้จักยัง.."จำปาดะ" ผลไม้ดังถิ่นใต้...ไม่ธรรมดา

รู้จักยัง.."จำปาดะ" ผลไม้ดังถิ่นใต้...ไม่ธรรมดา

08 ส.ค. 2564

"จำปาดะ"เป็น "ผลไม้"ที่หารับประทานได้ยากมาก ๆ เนื่องจากให้ผลเพียงปีละครั้งประมาณ พ.ค.- ก.ค.และจะหาได้เฉพาะทาง"ภาคใต้"เท่านั้น นอกจากรสชาติอร่อยแล้ว มี"สรรพคุณ" มากมาย

"จำปาดะ" (Chempedak) เป็น"ผลไม้"ตระกูลเดียวกับขนุน รสหวาน มีกลิ่นเฉพาะตัว

 

คนส่วนใหญ่มักสับสนเมื่อเห็น"ขนุน"และ"จำปาดะ" พร้อมกันเนื่องจากมีลักษณะภายนอกของ"ผลไม้"สองชนิดนี้ค่อนข้างคล้ายกัน   "จำปาดะ"ออกผลปีละ 1 ครั้งในช่วงฤดูฝน 

 

ถิ่นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรมาลายู อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนและเกาะนิวกินี

 

สำหรับประเทศไทย เป็นผลไม้ท้องถิ่นขึ้นชื่อของภาคใต้ ปลูกมากในจังหวัดสตูลและจังหวัดสงขลา


"จำปาดะ"มี 2 สายพันธุ์หลัก

1.จำปาดะขนุน เนื้อนิ่มเหลว เมื่อสุกงอมจะมีรสหวานจัด มีกลิ่นจัด ยวงมักไม่เต็มผล แกะยวงออกจากเปลือกค่อนข้างยาก ติดผลได้ตลอดทั้งปี ขนาดผลใหญ่กว่า"จำปาดะบ้าน"

 

2.จำปะดะบ้าน เนื้อเหลว รสหวานจัดและมีกลิ่นแรงเช่นเดียวกัน มียวงเต็มผล  เปลือกหนา แต่ฉีกหรือแกะออกจากยวงได้ง่าย

 

ทั้งสองสายพันธุ์สามารถแยกเป็นพันธุ์มีเมล็ดและไร้เมล็ด นอกจากนี้สายพันธุ์ย่อยสามารถแยกได้ตามพื้นที่การปลูก มีลักษณะเด่นและรสชาติแตกต่างกันไป

 

"ขนุน"กับ"จําปาดะ"ต่างกันอย่างไร

ขนาดของผล"จำปาดะ"จะเล็กกว่า"ขนุน"
 

เปลือก"จำปาดะ"จะบางและปอกง่ายกว่าขนุน และไม่มียวงมีใยเหนียวหนืดเป็นยางมาคั่นระหว่างเมล็ดเหมือนขนุน

 

กลิ่น"จำปาดะ"กลิ่นจะแรงกว่าขนุน

 

เนื้อจำปาดะจะมีเนื้อนิ่มเละ ไม่แข็งกรอบเหมือนขนุน

 

เนื้อจำปาดะจะเหนียวเคี้ยวไม่ค่อยขาด ไม่เหมือนขนุนที่เคี้ยวง่าย

 

รสชาติจำปาดะจะมีรสหวานจัด มีน้ำเยอะและหวานกว่าขนุน

 

สรรพคุณ"จำปาดะ"

ช่วยบำรุงร่างกาย 

 

มีวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี

 

เส้นใย"จำปาดะ"สามารถช่วยขับไขมันและสารพิษออกไปจากร่างกายได้

 

เปลือกไม้ของ"จำปาดะ"มีสรรพคุณที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและช่วยรักษาโรคมาลาเรียได้ 

 

เนื้อผลสุกของ"จำปาดะ" ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ

 

เนื้อผลอ่อนของ"จำปาดะ"ช่วยแก้อาการท้องเสีย

 

เมล็ดจำปาดะช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดและช่วยบำรุงร่างกายได้ 

 

ในมาเลเซียมีการใช้รากของจำปาดะเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรแบบดั้งเดิมที่ใช้สำหรับหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร

 

รับประทาน"จำปาดะ"กันอย่างไร

ผลสุกนิยมรับประทานสดเป็นผลไม้ มีรสหวานจัด หอม


สำหรับทางภาคใต้จะนิยมนำไปทำเป็น"จําปาดะทอด" โดยใช้เนื้อพร้อมเมล็ดไปคลุกกับแป้ง น้ำตาล ไข่ นม งา แล้วนำไปทอดน้ำมัน 


ใช้ทำเป็นขนมหวานหรือใช้ทำเป็นข้าวตอกน้ำกะทิจำปาดะ แกงบวดจำปาดะ


เมล็ดใช้ทำเป็นอาหารคาว อาทิ นำมาใส่แกงพุงปลา แกงคั่วกะทิ หรือจะรับประทานร่วมกับขนมจีน


ผลอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหาร

 

เมล็ดสามารถนำไปต้มหรือนำไปเผาไฟรับประทานได้


ใบอ่อน"จำปาดะ"ใช้เป็นผักจิ้มหรือใช้รับประทานร่วมกับส้มตำได้