
รับมืออย่างไรเมื่อป่วย"ไทรอยด์เป็นพิษ" โรคที่รักษาหายขาดได้
"ไทรอยด์เป็นพิษ" ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หมั่นสังเกตตัวเองเมื่อเกิดอาการผิดปกติ พร้อมเรียนรู้วิธีรักษาหายขาดได้
"ต่อมไทรอยด์” เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ส่วนหน้าของบริเวณลำคอ ติดกับหลอดลม มีลักษณะคล้ายปีกของผีเสื้อ ซึ่งลักษณะทางกายภาพของต่อมไทรอยด์ แบ่งเป็น ซีกซ้าย และขวา โดยหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ จะผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งจะควบคุมการเผาผลาญพลังงาน และการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงสภาพอารมณ์ จิตใจ และการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ สามารถเรียกอีกชื่อว่า ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ
ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ จะมีอาการที่แตกต่างกัน แต่อาการที่พบส่วนใหญ่ จะมีดังต่อไปนี้
น้ำหนักตัวลด ทั้งที่ทานอาหารมากขึ้น , ชีพจรเต้นเร็ว จังหวะไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น , อารมณ์แปรปรวน กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ , อ่อนเพลีย , มีอาการมือสั่น, ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย , ถ่ายอุจจาระบ่อย หรือท้องเสีย , ต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอบวม หรือโตขึ้น , มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ , กล้ามเนื้ออ่อนแรง , มีปัญหาสายตา เช่น ตาโปน เห็นภาพซ้อน , สำหรับผู้หญิงจะมีความผิดปกติของรอบเดือน เช่น สีของรอบเดือนจาง ,มาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งถ้าพบว่ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์
ส่วนสาเหตุของการเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เกิดได้จากสาเหตุหลักดังนี้
-โรค เกรฟวส์ (Grave's disease) ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนไทโรซีนออกมาผิดปกตจนกลายเป็นพิษ
- ก้อน หรือ เนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ พบมากในผู้สูงอายุ โดยพบก้อนเนื้อเจริญบนต่อมไทรอยด์ ซึ่งมักเป็นก้อนเนื้อร้ายที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
- ต่อมไทรอยด์อักเสบ มีผลทำให้ฮอร์โมนที่เก็บอยู่ในต่อมไทรอยด์รั่วออกมาได้
- ทานอาหารที่มีไอโอดีนมากเกินไป ซึ่งไอโอดีนสามารถพบได้ในยาบางชนิด สาหร่ายทะเล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสาหร่ายทะเล อาหารทะเล เป็นต้น การบริโภคไอโอดีนมากเกินความจำเป็น ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากผิดปกติได้
-ได้รับยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยภาวะไฮโปไทรอยด์ ที่รับประทานยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป
การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ทำได้ดังนี้
- การรับประทานยาต้านไทรอยด์ ยาเมไทมาโซล และยาโพพิลไทโออูราซิล โดย ตัวยาจะเข้าไปขัดขวางการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไม่ให้สร้างฮอร์โมนมากจนเกินไป ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้จัดปริมาณการใช้ยาให้ทุก ๆ 4 สัปดาห์ โดยพิจารณาจากผลการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งการรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายของผู้ป่วย
ทั้งนี้ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่พบได้ก็คือ อาการแพ้ยาที่อาจทำให้เกิดผื่น มีไข้ และปวดตามข้อ แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Agranulocytosis) แต่พบได้น้อย ทำให้ในการใช้ยานี้แพทย์อาจต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับเม็ดเลือดขาวควบคู่ไปกับการรักษาในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะนี้ด้วย
- ใช้ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ ลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง บรรเทาอาการใจสั่น
- การรักษาด้วยด้วยการกลืนสารรังสีไอโอดีน โดยสารนี้จะถูกดูดซึมโดยต่อมาไทรอยด์ และทำลายเนื้อต่อม ทำให้ จต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง
- การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือการผ่าตัดออกทั้งหมด จะทำให้ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ แต่อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เสียงแหบ ได้
ทั้งนี้ การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ ต้องอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์และการตัดสินใจของผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย
สำหรับวิธีป้องกันโรคไทรอยด์เป็นพิษนั้น ต้องคอยหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยป่วยด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษหากสิ้นสุดการรักษาแล้ว การติดตามผลในระยะยาวก็อาจเป็นสิ่งที่จำเป็น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เพื่อไม่ให้โรคไทรอยด์เป็นพิษกลับมาเป็นซ้ำอีก โดยในการติดตามผล แพทย์จะสั่งให้ตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ เพื่อเฝ้าระวังอาการและเตรียมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : https://www.pobpad.com/