กว่า 600 อปท."ตั้งชุมชน" ดูแลผู้ป่วยโควิดเปิดโฮมสเตย์-วัดเป็นที่กักตัว
ท้องถิ่นตื่นตัวกว่า 600 อปท. มีมาตรการรองรับผ่านเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ "ตั้งชุมชน"ดูแลเพื่อจำกัดวงการระบาดเชื้อโควิด-19 ทั้งส่วนที่จะนำเข้ามาและในส่วนที่จะนำออกไป
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการปรับแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เข้าร่วมกว่า 600 แห่ง รวม 2,268 คน ผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อรับมือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในขั้นวิกฤต ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา ดังนั้น ชุมชนท้องถิ่นจึงต้องเตรียมความพร้อมและมีมาตรการรองรับ ที่ผ่านมาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่รวดเร็ว สามารถปรับแผนปฏิบัติงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ดร.ประกาศิต กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับวิกฤตการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในระลอกนี้ แผนสุขภาวะชุมชนร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย (ศวภ.) ได้ออกแบบชุดกิจกรรมเพื่อการควบคุมโควิด-19ใน5ประเด็นคือ
1.ติดตามข้อมูลคนเข้าออก/ผู้ติดเชื้อ/กลุ่มเสี่ยง2.การสื่อสารกระบวนการ ได้แก่ การรายงานตัว และการรับวัคซีน 3.การดูแลตนเองในระบบชุมชนให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation)ซึ่งประกอบไปด้วย
สถานกักกันโรคท้องที่ (Local Quarantine / Home Quarantine)และระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) 4.การสนับสนุน รับ-ส่งตัว และ5.การฟื้นฟูด้านต่างๆ ในทุกมิติ
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้ท้องถิ่นมีประสบการณ์การรับมือกับการระบาดที่แตกต่างกันไป บางพื้นที่มีการระบาดค่อนข้างกว้างขว้างและเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ท้องถิ่นจึงต้องวางมาตรการจำกัดวงการระบาด
ทั้งการคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มงวด มีการเตรียมสถานที่สำหรับกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูง การส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อไปยังโรงพยาบาล รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่
แต่ที่มีเหมือนกันทุกพื้นที่ คือความร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพในการจัดการปัญหาผ่านความร่วมมือของ 4 องค์กรหลัก ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ท้องที่ คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรชุมชนหรือภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ซึ่งทุกพื้นที่ต้องรับมือกับสถานการณ์อย่างจริงจังและเข้มงวด เพื่อจำกัดวงการระบาดทั้งในส่วนที่จะนำเข้ามาและในส่วนที่จะนำออกไป