รวมปัญหาลูก "เจนอัลฟ่า" และวิธีแก้
เด็กเจนอัลฟ่า คือเด็กที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 หรือ 2010 เรียกว่าเป็นวัยที่โตมาพร้อมโลกดิจิตอลที่ทันสมัย มีอุปกรณ์เทคโนโลยีใช้ ทุกอย่างง่าย เร็ว สะดวกสบาย จนทำให้เด็กส่วนใหญ่มีปัญหา
เด็ก Generation Alpha หรือเจนอัลฟ่า คือนิยามที่ใช้เรียกเด็กที่เกิดตั้งแต่ปีพ.ศ.2553 หรือ 2010 จนถึงปัจจุบัน ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสังคมรอบข้างที่รวดเร็ววุ่นวาย ทำให้เด็กเจนอัลฟ่ามีบุคลิก นิสัยและพฤติกรรมที่แตกต่าง ซึ่งหากพ่อแม่ไม่เข้าใจและเลี้ยงลูกไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดปัญหามากมายจนแก้ได้ยาก ดังนั้นมารู้จักเด็กยุคใหม่ให้มากขึ้นพร้อมทำความเข้าใจ รับมือสอนลูกให้เป็นเด็กดีตั้งแต่วันนี้กันเลย
1. หนูอยู่คนเดียวได้ ไม่ง้อคนอื่น เพราะเด็กยุคนี้เขาจะมีเพื่อนทางออนไลน์ หาความสนุกสนานบันเทิงผ่านจอโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต เด็กดิจิตอลคิดส์รู้จักการเล่นเกม พูดคุยผ่านไลน์ เฟซบุ๊ก ดูยูทูป หิวก็สั่งอาหารออนไลน์ได้ ฉะนั้นหากทะเลาะหรืองอนพ่อแม่ เขาก็พร้อมอยู่คนเดียวได้ จึงทำให้เด็กรุ่นนี้ขาดความเป็น Human Relationship ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ขาดความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจ บางคนอาจไม่รู้จักมารยาทและกาละเทศะ เพราะไม่ค่อยได้ออกไปอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่น
ป้องกันรับมือได้ : เริ่มจากพ่อแม่ต้องให้ลูกได้มีกิจกรรมทำกับคนอื่นๆ ให้ลูกมีปฏิสัมพันธ์กับพี่น้อง ญาติ เพื่อนบ้าน เล่นกับเด็กคนอื่น หรือเล่นต่างวัยในบ้านเพื่อฝึกการอยู่ร่วมกันในสังคม รู้จักการให้ รู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเราและลด ละ จำกัดเวลาการใช้จอหรือเล่นแท็บเล็ตให้น้อยลง
2) มีข้อมูลมากมาย แต่ไม่รู้ว่าอะไรจริง เนื่องจากในยุคดิจิตอลที่สื่อสารกันได้ง่ายและเร็วได้ถึงตัวลูกทันที ทำให้เด็กๆ เข้าถึงได้ง่ายรู้จักเพื่อนต่างถิ่น พูดคุยกับคนแปลกหน้ามากมายโดยไม่ได้ทำความรู้จักกันหรือรู้นิสัยใจคอกันจริง ความอันตรายคือเด็กจะไม่รู้ว่าอะไรคือความจริงหรือไม่จริง ยังไม่รู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะ เสี่ยงโดนหลอก โดนค้ามนุษย์ และได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งน่าเป็นห่วงมากเพราะทุกวันนี้เด็กถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียมากขึ้น
ป้องกันรับมือได้ : พ่อแม่ต้องอยู่กับลูกเวลาลูกใช้อินเตอร์เน็ต คอยให้คำปรึกษาแนะนิส่งที่ถูกต้องและสอนสิ่งที่ควรระมัดระวัง ให้ลูกรู้ว่าโลกออนไลน์ไม่ได้มีความจริงทั้งหมดอาจโดนหลอกลวงได้ รวมถึงการตั้งโปรแกรมการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ป้องกันไม่ให้ลูกเข้าถึงแหล่งข้อมูลอันตราย ไม่ให้เข้าไปรับรู้หรือเห็นได้ง่ายเกินไป ตลอดจนสร้างความไว้ใจให้ลูกกล้าพูดกล้าบอกว่ากำลังคุยกับใคร มีใครติดต่อทางออนไลน์กับลูกอยู่
3. เป็นเด็ก Fast Life ใจร้อนชอบความรวดเร็ว เนื่องจากลูกวัยนี้โตมาพร้อมความสะดวกสบาย มีอุปกรณ์ดิจิตอลภายในบ้าน การติดต่อสื่อสารที่ทำทุกอย่างได้ง่าย การทำอะไรรวดเร็วจึงซึมซับเข้าไปในลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของลูกได้ด้วย เช่น เบื่อง่าย ใจร้อน มีความอดทนต่ำ ชอบความรวดเร็วทันใจ ไม่มีความอดทนรอคอย ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ รวมถึงควบคุมอารมณ์ไม่เป็น
ป้องกันรับมือได้ : ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักการรอคอยง่ายๆ ในบ้าน เช่นให้เวลาเขาเล่น รอคอยขนม รู้จักอดทนแบ่งของเล่นกับคนอื่น หากลูกมีอารมณ์โกรธพ่อแม่ต้องใจเย็นบอกให้เขาหัดสงบสติอารมณ์ก่อนพุดคุยกัน รวมถึงใช้วิธีการเล่นหรือเรียนรู้ที่ฝึกให้ลูกมีสมาธิ เช่น เล่นต่อบล็อก อ่านหนังสือ เล่านิทาน ปลูกต้นไม้ ระบายสี ให้เขาได้ใช้เวลาในการเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ มากกว่าให้ของเล่นสำเร็จรูป
4. ถูกตามใจ ไม่เคยเรียนรู้ความผิดหวัง เพราะเด็กเจนอัลฟ่ามักจะเป็นลูกคนเดียว ได้รับความรักความห่วงใยจากพ่อแม่มากเกินไป ถูกตามใจและพ่อแม่เลี้ยงไม่ถูกต้อง ทำให้พ่อแม่ทุ่มเทความรักและความหวังไว้กับลูกมาก ไม่ให้ลูกทำอะไรและปกป้องลูกเกินไป หรือ Over Protection จนทำให้เกิดปัญหา ดังจะเห็นได้จากข่าวที่เด็กใช้วิธีผิดๆ ในการแก้ปัญหา เช่น ฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น ทำผิดกฎหมาย เพราะเขาไม่เคยพบเจอกับความกดดันและความผิดหวังต่างๆ มาก่อน
ป้องกันรับมือได้ : พ่อแม่ต้องฝึกและสอนให้ลูกให้รู้จักผิดหวังเป็น ฝึกให้ลูกมีวินัยง่ายๆ ในบ้าน รู้จักรับผิดชอบ เช่น ให้อาหารสัตว์เลี้ยง ช่วยรดต้นไม้ เพราะการทำงานบ้าน จะทำให้เด็กรู้สึกทุกข์เพราะมีงานต้องทำ ต้องอึดฮึดสู้ เป็นความยากลำบากขั้นพื้นฐานที่เด็กควรได้รับและฝึกการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพ่อแม่ตั้งแต่ในบ้าน ไม่ให้บ้านเป็นที่เสวยสุขเพียงอย่างเดียว ต้องร่วมทุกข์ด้วย ให้สิ่งเหล่านี้เป็นแบบทดสอบให้ลูกรับมือความยากลำบากในอนาคต เพราะไม่งั้นอนาคตเขาจะดำรงชีวิตด้วยตัวเองไม่ได้
5) ไม่เข้าใจ ไม่รู้จักความเป็นธรรมชาติ ด้วยการที่ลูกโตมาในเมืองอยู่ในยุคดิจิตอล ใช้ชีวิตแบบ Fast Life มีสื่อต่างๆ หลากหลายอยู่รอบตัวให้ลูกได้ดูได้เล่นได้พูดคุยโดยไม่ต้องออกนอกบ้านเลย ทำให้ห่างไกลจากความเป็นธรรมชาติ ห่างไกลศีลธรรมและความผูกพันกับคนอื่น รวมถึงพ่อแม่จัดให้ลูกเองมีรูปแบบชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ มีโปรแกรมในแต่ละวันจากการที่พ่อแม่ให้ตื่นมา อาบน้ำแปรงฟัน เรียน และลงคอร์สเสริมทักษะ เรียนพิเศษ ทำให้เขาไม่รู้สึกดื่มด่ำกับธรรมชาติ ไม่รักธรรมชาติ ขาดน้ำใจไม่มีความเอื้ออาทรและความเมตตาปรานีต่อสัตว์ ไม่เข้าใจคนอื่น จนอาจมีความเห็นแก่ตัว และป่วยด้วยโรคทางสุขภาพจิตมากขึ้น
ป้องกันรับมือได้ : แค่พาลูกไปดูต้นไม้ดอกไม้สอนให้รู้ว่าธรรมชาติดีอย่างไร สอนให้รู้จักมีความเมตตาต่อสัตว์ ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ชวนลูกเล่นง่ายๆ กับของใช้ในบ้าน ตั้งกติกาการเล่นให้ลูกเคารพกฎต่างๆ เช่น ใครเล่นก่อน ของเล่นของใคร รู้จักการเข้าคิวก่อนและหลัง