ฝันของหนุ่มวิศวะวัย 34 กับงานเกษตรอาสาที่แอฟริกา จากโครงการพระราชดำริฯ
คุณเป็นคนที่มีความฝันหรือไม่ กำลังตามหาสิ่ง ๆ นั้นอยู่หรือเปล่า หากกำลังตามหาอยู่ลองมาอ่านเรื่องราวความฝันของหนุ่มป.โทวิศวะคนนี้ว่าการออกไปทำงานอาสาได้เติมเต็มชีวิตเขาอย่างไร
เมืองจาโกโตเม่ (Djakotomey) ในสาธารณรัฐเบนิน (Benin)
เพียงได้อ่านชื่อเมืองก็ทำเอาหลาย ๆ คนงงแล้วว่านี่คือเมืองอะไร ตั้งอยู่ในประเทศใด และอาจไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะได้ไปเยี่ยมที่แห่งนี้เลย แต่ไม่ใช่สำหรับ “ปิ๊ก-พุทธิภูมิ อาษานอก” วิศวกรเครื่องกลธรรมดาคนหนึ่งวัย 34 ปีที่ตัดสินใจออกเดินทางตามหาความหมายของชีวิตผ่านการเป็นอาสาสมัคร ด้านวิศวกรรมการเกษตร เพื่อตั้งศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรให้กับชุมชนในเมือง จาโกโตเม่ ให้มีความยั่งยืนจากภายในสู่ภายนอกโดยการคิดวิธีแก้ปัญหาให้เกษตรกรของเมืองจาโกโตเม่ให้มีระบบการทำงานมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
การเดินทางของปิ๊กได้รับการสนันสนุนจาก “โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย” ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (เรียกย่อ ๆ ว่า TICA) กระทรวงการต่างประเทศ อันเป็นโครงการที่มีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และได้รับคำแนะนำต่าง ๆ ระหว่างการปฏิบัติภารกิจจากศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง (ศปร.)
การที่ปิ๊กและทีมที่ไปด้วยกันจะสามารถบรรลุเป้าหมายการตั้งศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรให้กับชุมชนในเมืองจาโกโตเม่ได้ เขาเล่าว่าพวกเขาต้องนำความต้องการของผู้คนที่นั่นมาเป็นหลักว่าเขามีปัญหาอะไร มากกว่าสิ่งที่ทีมคิดว่าอะไรน่าจะเป็นสิ่งที่จะแก้ปัญหาให้ชุมชนได้ ต้องลงพื้นที่สำรวจว่าเขามีทรัพยกรอะไรบ้าง เขามีวิถีชีวิตแบบใด เพื่อจะได้ ร้างระบบการทำงานให้สอดรับกับคนในพื้นที่และเพื่อพวกเขาจะนำวิธีต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไม่ยากเกินไป
หนึ่งในปัญหาที่เขาพบคือระบบชลประทานภายในเมืองไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ในปี ๆ หนึ่งเมืองนี้ฝนจะตกไม่บ่อยนัก เมืองตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูงจึงเข้าถึงแหล่งน้ำได้ยาก จึงทำให้พืชที่ปลูกนั้นไม่งามเท่าที่ควรและทำให้ปลูกได้เพียงพืชที่ต้องการน้ำน้อย ๆ เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลัง การพัฒนาระบบชลประธานจึงเป็นสิ่งที่ปิ๊กและทีมงานอยากพัฒนาให้สำเร็จ
จากการศึกษาถึงปัญหาอย่างลึกซึ้งปิ๊กก็ได้ประสานงานกลับมายังประเทศจนได้ข้อสรุปว่าทาง TICA จะเข้าไปช่วยขุดบ่อน้ำบาดาลให้กับชุมชนและสนับสนุนระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยปั๊มน้ำอัตโนมัติแทนเครื่องปั๊มน้ำเดิมที่ระบบที่ขัดข้องบ่อยและต้องใช้น้ำมันซึ่งหาซื้อยาก
วิธีดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำรวจแล้วว่าเป็นระบบการน้ำตามความต้องการชุมชนจริง ๆ มากไปกว่านั้นปิ๊กและทีมยังได้สร้าง “ปราชญ์ชาวบ้าน” หรือผู้นำชุมชนที่จะนำความรู้ต่าง ๆ ที่ทีมไทยแลนด์มอบให้ไปส่งต่อให้กับสมาชิกคนอื่น ๆในชุมชนต่อไปได้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะสร้างการสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรอย่างยั่งยืนจากภายในสู่ภายนอก
วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563 TICA ร่วมกับสำนักงานสหประชาชาติจัดงานเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งหนุ่มอาสาวัย 34 คนนี้ก็ได้ไปร่วมงาน ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ปิ๊กกล่าวภายในงานถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ในระยะเวลา เกือบ 2 ที่ประเทศเบนินว่า
“หนึ่ง คุณจะสร้างความเป็นผู้นำในตัวเองได้ เพราะคุณอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่บ้านพ่อเมืองแม่ต้องอยู่ตัวคนเดียว ดูแลเรื่องความปลอดภัย การกินอยู่เอง สอง มีเวลากับตัวเองถ้าอยู่ในการทำงานปกติ ผมคงเรียนนอกตำราไม่ได้เลย แต่ตอนที่ผมอยู่แอฟริกา ผมชอบมากเลย เพราะมีเวลาว่างเนื่องจากไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีที่ให้ไป ไม่มีที่ให้ใช้เงินด้วย ผมเลยเรียนออนไลน์เรื่องระบบอัตโนมัติ ระบบคอมพิวเตอร์อุตสาหกรรม (PLC) ได้ จนผมทำเป็นหมดเลย เพื่อปรับใช้ในการแก้ปัญหาในท้องถิ่น”
เพราะความฝัน ความหวัง และ ความต้องการ ในชีวิตของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป ความแตกต่างนี้เองซึ่งจะนำไปสู่ความหมายและบทเรียนชีวิตที่ไม่เหมือนกัน แต่สำหรับหนุ่มคนนี้ เขาได้ค้นพบว่าการทำงานอาสาช่วยเหลือชุมชนเป็นสิ่งหนึ่งที่เขารัก และเมื่อเขากลับมาจากประเทศเบนิน เขาก็ไม่หยุดที่จะหางานอาสาเพื่อออกไปช่วยเหลือสังคมอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก:
กรมสาระนิเทศฯ กระทรวงการต่างประเทศ