หยุด"ตะคริว" ขณะตั้งครรภ์ ป้องกันดูแลได้
ไม่มีใครอยากให้อาการตะคริวมาเยือน ยิ่งตอนตั้งครรภ์ก็อุ้ยอ้ายมีอาการสารพัดอยู่แล้ว ยิ่งเป็นตะคริวทำคุณแม่ทรมาน ทั้งเจ็บทั้งนอนไม่หลับ ดังนั้นหากป้องกันรู้ทันไม่ให้เป็นตะคริวได้น่าจะดีที่สุด
“ตะคริว” คืออาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่บริเวณน่อง ขาและเท้า อาการตะคริวเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ขาดแคลเซียมและมีฟอสฟอรัสมากเกินไปในกระแสเลือด ทำให้เลือดเดินไม่สะดวกเพราะมีของเสียคั่งบริเวณน่องจนทำให้กล้ามเนื้อหดตัว
คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะเป็นตะคริวได้บ่อยกว่าปกติเพราะร่างกายที่ขาดแคลเซียม การมีน้ำหนักตัวมากทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดที่ขาคุณแม่ตึงแน่นเกินไป ขาต้องรับน้ำหนักทำให้เลือดเดินไม่สะดวก ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ที่นั่ง เดิน หรืออยู่ในท่าเดิมๆ นานๆ ยิ่งทำให้เป็นตะคริวได้ง่าย จนคุณแม่มีอาการเจ็บปวดบริเวณน่องหรือขา มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งตึงตัวและส่วนใหญ่แม่ท้องจะเป็นตะคริวตอนกลางคืนหรือกลางดึก ทำให้นอนไม่หลับทั้งเจ็บทรมาน กวนใจและยังบั่นทอนสุขภาพอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชวนฟิตกับ 10 ข้อดี เมื่อแม่ท้องออกกำลังกาย
น่าห่วง "หญิงตั้งครรภ์" ตาย-ติดเชื้อ"โควิด" พุ่ง มากกว่าคนปกติเกือบ 3 เท่า
วิธีบรรเทาอาการ “ตะคริว”
- จับปลายเท้าขึ้น-ลง โดยใช้มือประคองขาข้างที่เป็น แล้วค่อยๆ ดันปลายเท้าขึ้น-ลง
- ยืดเหยียดขาออก กระดกปลายเท้าขึ้น-ลง ให้คุณแม่ใช้มือประคองและจับขาข้างที่เป็นตะคริว แล้วค่อยๆ ยืดขาออกทีละนิด และพยายามทำซ้ำจนกว่าจะปล่อยมือแล้วขาไม่มีเกร็งอีก อาจทำร่วมกับการค่อยๆ กระดกปลายเท้าข้างที่เป็นขึ้น-ลง
- เหยียดเข่าออก หากคุณแม่เป็นตะคริวที่ต้นขา ให้คุณแม่ค่อยๆ ยกเท้าขึ้นเล็กน้อยแล้วเหยียดหัวเข่าออกให้ตรง
รู้ทัน ป้องกัน “ตะคริว” ล่วงหน้า
กินอาหารเพิ่มแคลเซียม ป้องกันอาการขาดแคลเซียมจนเป็นตะคริว โดยแหล่งอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ปลาเล็กปลาน้อย งา ถั่วเหลือง เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากนม โยเกิร์ต งดอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมเช่น ชา น้ำอัดลม กาแฟ
กินผักผลไม้ให้หลากหลายทั้ง ผักผลไม้สีเขียว สีเหลือง สีแดง ทานวิตามินและแคลเซียมที่สูติแพทย์ให้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณแม่ได้รับสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุจำเป็นอย่างเพียงพอต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ตลอดจนให้ร่างกายได้รับที่พลังงานเพียงพอ
ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และท่านอน แนะนำให้คุณแม่หมั่นปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่นั่งท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ไม่ยืนนานหรือเดินนานเกินไป ปรับการนั่งให้หลังตรง ไม่นั่งไขว่ห้าง พยายามเดินและยืนให้ตัวตรงหลังตรงไม่โก่งโค้ง ไม่งอขา หลีกเลี่ยงการยกของหนัก รวมทั้งควรปรับท่านอน โดยนอนยกขาให้สูงกว่าศีรษะเล็กน้อย ใช้หมอนหรือผ้ารองขาและเท้าให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณกล้ามเนื้อน่อง ป้องกันไม่ให้ขาแบกรับน้ำหนักจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก จะช่วยลดการเกิดตะคริวลงได้
ดื่มน้ำมากๆ อย่าปล่อยให้รู้สึกกระหายน้ำ ยิ่งในหน้าร้อนที่ร่างกายต้องเสียเหงื่อมากอาจทำให้ร่างกายคุณแม่ขาดน้ำได้ เพราะหากร่างกายขาดน้ำจะส่งผลทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นตะคริวได้เช่นกัน