"คอนแทคเลนส์" ดูแลให้ถูก ลดเสี่ยงโรคตาอันตราย
"คอนแทคเลนส์" เป็นตัวช่วยสำคัญเพื่อปรับสายตาและการมองเห็นของคนในวัยเรียนและวัยทำงาน ซึ่งหากดูแลรักษาได้ดีถูกต้องก็ช่วยมองเห็นดีและปลอดภัย แต่หากดูแลไม่ถูกอาจทำดวงตาติดเชื้อ เสี่ยงโรคอันตรายได้
วิธีการดูแลคอนแทคเลนส์ที่ถูกต้อง จะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การดูแลทำความสะอาดมือตัวเอง ใส่ใจดูแลและเปลี่ยนกล่องหรือ Case เก็บคอนแทคเลนส์ รวมถึงขั้นตอนการแช่น้ำยาเพื่อฆ่าเชื้อ ดังนี้
เปลี่ยนกล่องเก็บคอนแทคเลนส์ทุกเดือน แต่หากเปลี่ยนไม่ได้ควรหมั่นทำความสะอาดสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคอย่างถูกต้อง นั่นคือ
1) วิธีทำความสะอาด Case ใส่คอนแทคเลนส์
- ทิ้งน้ำยาแช่ contact lens เก่าออกให้หมด
- ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนเสมอ (หมั่นตัดเล็บให้สั้น ป้องกันเล็บแทงตา)
- ล้างตัว case ใส่คอนเทคเลนส์ด้วยน้ำยาล้างเลนส์ (Multipurpose Contact Lens Solution) จากนั้นถูตัว case ด้วยนิ้วมือแล้วชะล้างด้วยน้ำยาอีกครั้ง
- เป่า case ให้แห้ง หรือคว่ำ case ไว้จนแห้งสนิท
- หมั่นนำ case มาต้มในน้ำร้อนเป็นเวลา 4-5 นาที เนื่องจากเชื้อโรคบางตัวทนต่อน้ำยาล้างเลนส์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
8 วิธีดูแลดวงตา เมื่อต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน
ปัญหา "สายตา" ไม่ควรมองข้าม วิธีบำรุงสายตาที่เกิดประโยชน์
2) วิธีการล้างคอนแทคเลนส์ มี 3 ขั้นตอนที่สำคัญคือ
1.Cleaning คือการทำความสะอาดเพื่อกำจัดเชื้อโรคให้ได้ 90% นั่นคือล้างมือให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นถอดคอนแทคเลนส์แล้วนำเลนส์วางบนฝ่ามืออีกข้าง หลังจากนั้นหยดน้ำยาล้างเลนส์ 2-3 หยด ถูเลนส์ด้วยนิ้วมือประมาณ 20-30 วินาที (แม้ว่าน้ำยาจะระบุว่าไม่จำเป็นต้องถูก็ตาม) ควรทำการถูเลนส์เหมือนกันทั้ง 2 ด้านทุกครั้ง
2. Rinsing การทำส่วนนี้จะช่วยกำจัดเชื้อโรคไปอีก 9% วิธีการคือหลังถูเลนส์แล้วให้รินหรือเทน้ำยาล้างเลนส์หรือน้ำเกลือผ่านตัวคอนแทคเลนส์ทั้งสองข้างเพื่อชะล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรคออกไปอีกครั้ง
3. Disinfection ขั้นตอนสุดท้ายนี้ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่เหลือในอีก 1% นั่นคือการแช่คอนแทคเลนส์ใน Case หรือกล่อง (ที่ล้างทำความสะอาดและแห้งดีแล้ว) ด้วยน้ำยาล้างเลนส์ (Multipurpose Solution) แล้วทิ้งไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของน้ำยาล้าง
หลังจากนั้นหากต้องการนำคอนแทคเลนส์มาใส่ ควรรินน้ำยาล้างเลนส์เพื่อล้างคอนแทคเลนส์อีกครั้งก่อนที่จะใส่บนดวงตา หากทำได้ตามขั้นตอนที่แนะนำนี้ทุกคนก็จะสามารถใช้ Contact Lens ได้อย่างปลอดภัย ห่างไกลจากโรคตาอันตรายทั้งตาแดง อาการเคืองตา ตามัว รวมถึงการติดเชื้ออันตรายที่กระจกตา หรือเนื้อเยื่อตาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามหากหลังใส่คอนแทคเลนส์แล้วมีอาการระคายเคืองตา เจ็บตา รู้สึกผิดปกติ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาล ตา หู คอ จมูก