ไลฟ์สไตล์

รู้จักโรค "นิ่วในไต" รีบสังเกตอาการ ก่อนติดเชื้อรุนแรง

รู้จักโรค "นิ่วในไต" รีบสังเกตอาการ ก่อนติดเชื้อรุนแรง

14 ส.ค. 2564

รู้หรือไม่ว่า "โรคนิ่วในไต" เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในคุณผู้ชายมีโอกาสป่วยโรคนี้ได้มากกว่าผู้หญิง ฉะนั้นควรรีบสังเกตอาการและรีบรักษา เพื่อไม่ให้รุนแรงจนทำไตเสื่อมหรือไตวายได้ในอนาคต

“นิ่วในไต” เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุแข็งชนิดต่างๆ ที่รวมตัวกันจนกลายเป็นก้อนแข็งที่มีขนาดแตกต่างกัน มักพบที่บริเวณกรวยไตและระบบทางเดินปัสสาวะ โดยก้อนแข็งนี้ตกตะกอนเป็นนิ่ว ซึ่งนิ่วในไตมีโอกาสเป็นซ้ำได้ พบว่าช่วงวัยที่ป่วยส่วนใหญ่คืออายุ 30 – 40 ปี และผู้ชายมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง  ที่สำคัญคือหากปล่อยทิ้งไว้นานไม่รีบรักษา อาจเกิดการติดเชื้อจนเนื้อไตเสีย ไตเสื่อม และไตวายเรื้อรังจนถึงกับเสียชีวิตได้ในอนาคต

 

 

รู้จักโรค \"นิ่วในไต\" รีบสังเกตอาการ ก่อนติดเชื้อรุนแรง

 

สาเหตุของนิ่วในไต เป็นผลมาจากการมีปัสสาวะเข้มข้นมากและตกตะกอนเป็นนิ่ว มีความเกี่ยวข้องกับการมีแคลเซียมในปัสสาวะมากผิดปกติจากปัจจัยต่างๆ นั่นคือ

  • รับประทานอาหารแคลเซียม โปรตีน เกลือ และน้ำตาล สูงมากเกินไป
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไปในแต่ละวัน
  • ใส่น้ำตาลในเครื่องดื่มมาก
  • กินอาหารที่มีสารยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม เช่น หน่อไม้ ถั่ว ช็อกโกแลต ผักปวยเล้ง มันเทศ ฯลฯ
  • กินวิตามินซีมากกว่าวันละ 1,000 มิลลิกรัม
  • ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
  • มีโรคแทรกซ้อนจากการเป็นโรคเกาต์
  • เป็นโรคลำไส้อักเสบ เรื้อรัง โรคอ้วน มีน้ำหนักมากเกินไปและโรคเบาหวาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"ปลูกถ่ายไต" ได้ไหม มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง ในช่วงโควิด-19

ภัยใกล้ตัว"นิ่วในถุงน้ำดี"ใครก็เป็นได้

 

อาการของโรคนิ่วในไต สังเกตได้ดังนี้

  • ปวดเอวข้างที่มีก้อนนิ่ว และอาจปวดหลังหรือช่องท้องช่วงล่างข้างใดข้างหนึ่ง
  • ปวดท้องเสียด ปวดบิดเป็นพักๆ หรืออาจปวดบิดในท้องรุนแรง หากก้อนนิ่วตกลงมาที่ท่อไต
  • มีไข้หนาว  คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปัสสาวะขุ่นแดง  ปัสสาวะเป็นเม็ดทราย
  • ปัสสาวะแล้วเจ็บ  ปัสสาวะบ่อย
  • ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะไม่ออก 
  • บางคนอาจไม่มีอาการแสดงได้
  • หากมีอาการต่างๆ ดังกล่าวแล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่ไปพบแพทย์ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อจนอันตรายถึงชีวิต จึงควรรีบปรึกษาแพทย์และรักษาให้หายก่อนอาการลุกลามรุนแรง

 

รู้จักโรค \"นิ่วในไต\" รีบสังเกตอาการ ก่อนติดเชื้อรุนแรง

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็น“นิ่วในไต” ส่วนใหญ่แพทย์เฉพาะทางจะดำเนินการตรวจวินิจฉัยโรคนิ่วในไต ด้วยวิธีการดังนี้

  • ตรวจปัสสาวะ หากพบเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นนิ่วในไต
  • ตรวจเลือด เพื่อดูปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือดที่มากเกินไป
  • เอกซเรย์ช่องท้อง เพื่อให้แพทย์ได้เห็นก้อนนิ่วบริเวณทางเดินปัสสาวะ
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เอกซเรย์ไตด้วยการฉีดสี (IVP) เพื่อเห็นก้อนนิ่วและวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดโรค
  • อัลตราซาวนด์ไต ช่วยตรวจหาก้อนนิ่วในไตได้ชัดเจน และการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ 

 

การรักษานิ่วในไต  เมื่อคุณหมอทราบสาเหตุและบริเวณที่เกิดนิ่วในไตแล้ว จะทำการรักษาตามชนิดและสาเหตุของโรค อาทิ

  • การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เช่น การดื่มน้ำมาก เพื่อขับนิ่วออกมาทางปัสสาวะ กรณีมีก้อนนิ่วขนาดเล็กมาก เพราะสามารถหลุดออกมาได้เอง  
  • การรักษาด้วยยา เพื่อช่วยขับก้อนนิ่วตามความเหมาะสม
  • การใช้เครื่องสลายนิ่ว คลื่นเสียงความถี่สูง ทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวและขับออกมาทางปัสสาวะ
  • การส่องกล้องสลายนิ่ว โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีกล้องเข้าไปทางท่อปัสสาวะ เพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะได้
  • การผ่าตัด  ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่และรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล

 

“นิ่วในไต” ป้องกันได้ ด้วยการดื่มน้ำให้มากในทุกวัน เพื่อช่วยลดโอกาสการตกตะกอนของก้อนนิ่วในไต กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงให้เพียงพอ เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย เลี่ยงอาหารรสเค็ม ลดการเติมเกลือในมื้ออาหาร ควบคุมการกินเนื้อสัตว์ นม เนย เน้นการกินผักใบเขียวและผลไม้ให้มากเพื่อสุขภาพที่ดี

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ