รู้จัก 7 ซูเปอร์ฟู้ดส์ "บำรุงตับ" ไม่แก่ไม่อ้วนง่าย
ชวนคุณผู้อ่านห่างไกลจากโรคตับ ด้วยการเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพตับ 7 อย่างนี้ รับรองกินแล้วไม่ใช่แค่ดีต่อตับเท่านั้น แต่ยังต้านชราพาสุขภาพดีแบบยั่งยืน
เพราะ"ตับ"เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกาย เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับอวัยวะอื่นๆ เพื่อให้ร่างกายในหลายๆ ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกวัน แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังละเลยการให้ความสำคัญต่อตับ ไม่ดูแลสุขภาพและกินอาหารที่ทำให้ไขมันสะสมในตับมากจนก่อโรค ฉะนั้นหากเราเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ก็จะช่วยดูแลตับให้มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น
มีข้อมูลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Molecular Sciences และ World Journal of Gastroenterology และบทความวารสารเกี่ยวกับตับ (Liver International) ที่พบอาหารสุขภาพกลุ่มที่กินแล้วช่วยลดการสะสมสารพิษในตับรวมถึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการและความผิดปกติต่างๆ ทั้งยังช่วยให้ตับทำงานได้มีประสิทธิภาพดี นั่นคือ
ชาเขียว ช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด ลดภาวะความไม่สมดุลของการเกิดอนุมูลอิสระ และลดความเสี่ยงไขมันพอกในตับได้ แต่สิ่งสำคัญที่แนะนำ คือ ควรใช้ชาเขียวแท้ๆ จะมีประโยชน์มากกว่าสารสกัดจากชาเขียว โดยควรดื่มชาวันละ 1-2 แก้วแทนการกินแบบสารสกัดแคปซูล เพราะการกินสารสกัดจากแคปซูลอาจเกิดผลเสียต่อตับได้มากกว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อ้วนซ่อนรูป'เสี่ยงไขมันเกาะตับ
อ้วนน้ำหนักเกินจาก "ไขมันพอกตับ"ปัจจัยไปสู่มะเร็งเร็งตับ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่บอกว่าการดื่ม “กาแฟ” มีส่วนที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อตับ เช่น โรคไขมันพอกตับและช่วยลดการสะสมไขมันในตับ รวมถึงออกฤทธ์ในการเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อช่วยปกป้องตับ และสารประกอบในกาแฟก็ช่วยเสริมพลังให้เอนไซม์ในตับได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ควรดื่มกาแฟมากจนเกินไป และหากมีโรคจำตัวหรือมีความเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการดื่มกาแฟเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ข้าวโอ๊ต เนื่องจากมีการค้นพบว่าสารเบต้ากลูแคนในข้าวโอ๊ตมีส่วนช่วยลดไขมันที่สะสมในตับของหนูทดลอง ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น ลดการอักเสบ และลดโอกาสเสี่ยงโรคเบาหวานและโรคอ้วน นอกจากนี้ยังมี"ข้าวกล้อง"และอาหารจากธัญพืชอื่นๆ ก็มีประโยชน์ต่อการทำงานของตับอีกด้วย
ผลไม้สีเข้ม เช่น ผลไม้สีม่วงหรือแดงเข้มตระกูลเบอร์รี่ เช่น บลูเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ และองุ่น มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดความเสียหายของตับจากการได้รับสารพิษหรืออนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกาย คำแนะนำในการกินคือหากเป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ควรกินทั้งเปลือกเพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ส่วนองุ่นนอกจากการกินผลแล้ว อาจดื่มไวน์สลับได้วันละ 1 แก้วหรือใช้น้ำส้มบาลซามิกที่หมักจากองุ่นในการนำมาประกอบอาหารหรือทำน้ำสลัดได้
เกรปฟรุต เป็นไม้ผลตระกูลส้มที่มีวิตามินซีสูง มีสารสำคัญคือ นารินจิน (Naringin) และนารินเจนิน (Naringenin) ที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบและป้องกันเซลล์ตับถูกทำลาย ลดไขมันที่จะสะสมในตับ และช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเอนไซม์มาเผาผลาญไขมัน ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดไขมันพอกตับได้
น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันพืชที่มีไขมันดี เช่น น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว โดยควรเลือกชนิดที่ไม่ผ่านการแปรรูปและเติมสารต่างๆ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพตับ เพราะน้ำมันที่มีไขมันดีจะมีส่วนช่วยให้อวัยวะในร่างกายทำงานได้ดี และทำให้เราได้ลดการกินไขมันชนิดไม่ดีอีกด้วย
ปลาที่มีไขมันโอเมก้า-3 ไม่ใช่แค่ปลาต่างประเทศอย่างแซลมอนเท่านั้นที่มีไขมันดีอย่างโอเมก้า-3 เพราะปลาที่หาง่ายในบ้านเราทั้ง ปลาช่อน ปลาดาบเงิน ปลาดุกอุย ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลาเนื้ออ่อน ปลาสวาย ปลาอินทรี ปลาจะละเม็ดขาว ก็ล้วนมีไขมันดีที่มีส่วนช่วยลดการสะสมไขมันเลวและสารอนุมูลอิสระที่ตับ ป้องกันความเสี่ยงโรคไขมันพอกตับได้เช่นกัน
ถั่ว ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ และเมล็ดพืช เช่น อัลมอนต์ ถั่วลิสง วอลนัท เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดทานตะวัน จมูกข้าวสาลี ล้วนเป็นอาหารที่มีวิตามินอีสูง ช่วยบำรุงตับลดความเสี่ยงจากโรคตับอันตราย
ขอบคุณข้อมูลจาก https://liver-thailand.com, https://www.ncbi.nlm.nih.gov