อย่าให้ "รองช้ำ" ทำชีวิตทุกวันช้ำใจ
ใครที่เป็นโรครองช้ำ ไม่ใช่แค่ช้ำกายเพราะเท้าปวดจี๊ด แต่ยังช้ำใจเพราะเดินและทำงานอะไรลำบาก ฉะนั้นอย่ารอให้ป่วยแล้วต้องทุกข์ทรมาน ป้องกันตั้งแต่วันนี้น่าจะดีที่สุด
โรครองช้ำ คืออาการอักเสบที่เกิดขึ้นกับพังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar Fasciitis) มักพบได้มากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและเจอบ่อยในคนอายุ 40-60 ปี ซึ่งพังผืดใต้ฝ่าเท้านั้นจะมีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม โดยยอดของสามเหลี่ยมจะยึดติดกับกระดูกส้นเท้า ส่วนฐานมีแฉกแยกออกไปยึดติดกับนิ้วเท้าทั้งห้านิ้ว โดยพังผืดใต้ฝ่าเท้าจะมีความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร ทำหน้าที่ในการรองรับแรงกระแทกบริเวณฝ่าเท้า รองรับอุ้งเท้าในแนวตามยาว รองรับน้ำหนักตัว และช่วยพยุงโครงสร้างเท้าให้เหมาะสมในช่วงระยะของการเดิน ซึ่งเมื่อเกิดการอักเสบขึ้นจะทำให้มีอาการเจ็บปวดบริเวณส้นเท้า
อาการของ “รองช้ำ” จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดแปล็บๆ เหมือนมีอะไรมาแทงบริเวณส้นเท้าเวลาวางส้นเท้ากับพื้น หรือก้าวเดินลงตอนตื่นนอน เจ็บจี๊ดที่ส้นเท้าจนมีอาการสะดุ้ง ปวดแบบโดนของร้อน ปวดแสบฝ่าเท้าเวลาก้าวเดินตอนเช้า ซึ่งอาการปวดจะค่อยๆ เบาลงเมื่อเดินไปได้ 2-3 ก้าว และสามารถกลับมาปวดมากเหมือนเดิมได้ใหม่ แต่หากยืนเป็นระยะเวลานานหรือลุกขึ้นจากการนั่งพักนานๆ และถ้าผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนท่าเดินเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดบริเวณส้นเท้า อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วยได้ เช่น เข่า สะโพก และหลัง การกระดกข้อเท้าหรือกระดกหัวแม่เท้าขึ้นสามารถเพิ่มอาการปวดได้
โรครองช้ำ เกิดจากอะไร...เนื่องจากเวลาที่เรายืนหรือเดินน้ำหนักตัวจะตกลงบนฝ่าเท้าทำให้อุ้งเท้าแบนราบกับพื้นมากขึ้น แรงที่ตกลงมายังฝ่าเท้าจะกระจายไปยังบริเวณหน้าเท้าและส้นเท้าส่งผลทำให้พังผืดมีความตึงตัว ซึ่งหากแรงนี้มีมากเกินกว่าที่จะรับได้จะทำให้พังผืดได้รับความเสียหายจนทำให้การอักเสบสะสมจนมีอาการบาดเจ็บทีละเล็กทีละน้อย จนเกิดการอักเสบหรือร้ายแรงจนอาจฉีกขาดได้ รวมทั้งสาเหตุจากปัจจัยอื่นๆ เช่น
- อ้วน มีน้ำหนักตัวเยอะเกินไป
- การออกกำลังกายบางชนิด เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิค
- การยืน หรือเดินนานเกินไป และใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน
- โครงสร้างเท้าที่อาจมีความผิดปกติ เช่น เท้าแบน อุ้งเท้าสูง ทำให้รูปแบบการเดินผิดปกติ
- ภาวะกระดูกงอกบริเวณกระดูกส้นเท้า
- ภาวะเอ็นร้อยหวายตึงตัว
- ไขมันบริเวณส้นเท้ามีการฝ่อลีบ เนื่องจากความเสื่อมตามอายุ
ป้องกัน “รองช้ำ” ได้ไหม โรครองช้ำป้องกันได้ โดยพยายามปฏิบัติให้ได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนานเกินไป
- หากชอบวิ่งออกกำลังกาย ควรหลีกเลี่ยงการวิ่งบนพื้นแข็ง เช่น พื้นคอนกรีตเป็นประจำ อาจวิ่งบนพื้นยางมะตอย พื้นหญ้า พื้นยาง หรือพื้นดินบ้าง
- ไม่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ หรือใส่ส้นสูงเดินหรือยืนมากเกินไป
- ควรเลือกรองเท้าที่ดีต่อสุขภาพเท้า เช่น รองเท้าที่มีพื้นหนานุ่ม เป็นแนวราบ ส้นไม่สูงมาก มีความแน่นกระชับ รองรับแรงกระแทกได้ดี กลางพื้นรองเท้าควรมีความโค้งนูนซัพพอร์ตอุ้งเท้า จะมีส่วนช่วยในการกระจายแรงกดของน้ำหนักตัวลงฝ่าเท้าได้
- ใช้ตัวช่วยเช่นใส่แผ่นรองเท้าซิลิโคนรองรับส้นเท้าหรืออุ้งเท้า สวมใส่ผ้ายืดสวมเท้าที่มีซิลิโคนจะช่วยลดแรงกดหรือกระแทกบริเวณแนวโค้งด้านในของฝ่าเท้าได้
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของฝ่าเท้า หากรู้สึกตึงที่ฝ่าเท้าหรือเริ่มเจ็บปวดมากขึ้นหรือไม่ หากเริ่มรู้สึกเจ็บบริเวณเท้า ฝ่าเท้าหรือแม้แต่ข้อเท้าควรรีบไปพบแพทย์
รองช้ำรักษาได้ ด้วยการยืดหยียดกล้ามเนื้อเท้าตามคำแนะนำของแพทย์และการใช้อุปกรณ์พยุงอุ้งเท้า (Foot Orthosis) เพื่อปรับอุ้งเท้าให้ปกติหรือรองรับแรงกระแทกต่อฝ่าเท้า รวมถึงการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อลดการอักเสบและลดปวด ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์หรือช็อคเวฟ (Shock-Wave Therapy) การกินยาหรือฉีดยาลดปวดบริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้าและใช้การการผ่าตัดในกรณีที่รักษาแบบอื่นแล้วไม่ได้ผล
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, และโรงพยาบาลเปาโล