ชวนลูก "อ่านหนังสือ" เพิ่มทักษะ Theory of mind
หลายครอบครัวอาจไม่รู้ว่าการอ่านหนังสือของเด็กๆ นอกจากจะดีต่อ "สมอง" การเรียนรู้ พัฒนาจินตนาการแล้ว ยังมีข้อมูลที่พบว่าเมื่อลูกอ่านหนังสือ เขายังได้"พัฒนาทักษะ"เรื่องความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่นอีกด้วย
การอ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือนิทานที่มีตัวละคร หรือเรื่องสนุกสนานที่ลูกรักโปรดปรานต่างๆ จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะจินตภาพการใช้ชีวิตในมุมต่างๆของละครไ ม่ว่าจะเป็น ความเห็นอกเห็นใจ และการทำความเข้าใจความรู้สึกและมุมมองของบุคคลอื่น ซึ่งนั่นเองจะช่วยพัฒนาการสิ่งที่เรียกว่า “Theory of mind” ให้เด็กได้
Theory of mind หมายถึง “ความสามารถในการรับรู้ว่าคนเรา ทั้งตัวเองและคนอื่น มีความคิด ความเชื่อ ความต้องการ ความตั้งใจ ความรู้ การรับรู้ และการแสดงออกที่เฉพาะในคนๆ หนึ่ง และในแต่ละคน มุมมองเหล่านั้นก็อาจมีความแตกต่างกันไป” ซึ่งโดยทั่วไป เด็กจะมีเริ่มมีพัฒนาการในเรื่อง Theory of mind ตั้งแต่อายุประมาณ 4 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โดยมีนักวิชาการเคยศึกษาไว้ว่า หนังสืออ่านเล่นของเด็กเล็กมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับความคิดจิตใจ การเข้าสังคม และความคิดที่ต่างกันของตัวละคร และสิ่งสำคัญที่เราเห็นบ่อยๆ คือตัวละครในหนังสือมักมีความเชื่อผิดๆ ที่ไม่ตรงกับคนอื่น ซึ่งนักวิชาการเรย์มอนด์ มาร์ และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่าการอ่านหนังสือช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่อง “ใจเขาใจเรา” ได้จริงหรือไม่ ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบผลของสื่อต่างๆ ได้แก่ หนังสือ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ ที่มีต่อการพัฒนาทักษะ Theory of Mind ของเด็ก โดยศึกษาในเด็กอายุ 4-5 ปี จำนวน 55 คน และผู้ปกครองของเด็ก ในเบื้องต้น ผู้วิจัยจะทำการวัดว่าเด็กได้รับสื่อต่างๆ มากน้อยเพียงใด
จากนั้นได้วิจัยทดสอบทักษะในเรื่อง Theory of mind โดยให้เด็กตอบคำถามสถานการณ์สมมติ เพื่อทดสอบว่าเด็กเข้าใจหรือไม่ว่าตัวละครสมมติมี ความคิด ความต้องการ ความเชื่อ ความรู้ ความรู้สึกต่างจากตนเองอย่างไร
ซึ่งผลการวิจัยก็ได้พบเรื่องที่น่าสนใจ นั่นคือมีผลที่แสดงว่าเด็กที่คุ้นเคยกับการอ่านหนังสือร่วมกับพ่อแม่จะมีผลทดสอบทักษะเรื่อง Theory of mind ที่ดีกว่าเด็กที่คุ้นเคยกับสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มที่คุ้นเคยกับการดูโทรทัศน์ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งเอาไว้ว่าการอ่านหนังสือมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะ Theory of mind ของเด็ก ซึ่งช่วยทำให้คุณหนูๆ มีความละเอียดอ่อนกับความรู้สึกและความต้องการของคนอื่น รู้จัก“ใจเขาใจเรา” มากขึ้น
นอกจากนี้คุณหนูๆ คนไหนที่เริ่มมีการพัฒนาทักษะเรื่อง Theory of mind เขาจะเปลี่ยนมุมมองความคิดจากที่เคยมองโลกในมุมมองของตนเองเพียงอย่างเดียวยึดความคิดและความรู้สึกของตนเองเป็นหลัก (Egocentrism) มาลองมองในมุมมองของคนอื่นดูบ้าง จนเกิดเป็นความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาทักษะนี้ในคุณหนูๆ จำเป็นจะต้องอาศัยเวลา ประกอบกับการสร้างเสริมจากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อม ร่วมกับการอ่านหนังสือสม่ำเสมอ และยิ่งมีพ่อแม่ดูแลช่วยแนะนำเป็นที่ปรึกษาเวลาลูกมีข้อสงสัย ก็จะยิ่งช่วยพัฒนาทักษะดังกล่าว ช่วยให้ลูกรักได้เรียนรู้ความคิดและจิตใจของบุคคลอื่นได้ดียิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก คู่มืออ่านสร้างสมอง พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย / ภาพจาก https://pixabay.com/