สอนลูกวัย Pre-teen รู้ทักษะความปลอดภัย
เพราะลูกมีภัยรอบตัว พ่อแม่จึงต้องสอนลูกวัยซนหรือ Pre-teen ให้มีทักษะความปลอดภัย รู้ทันป้องกันอันตรายต่างๆ
ในแต่ละปีมีสถิติเด็กได้รับอันตรายทั้งจากการจมน้ำ อุบัติเหตุพลัดตกหกล้ม รวมถึงอันตรายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนมีเหตุให้พิการและเสียชีวิตมากมาย ฉะนั้นหากเราไม่อยากให้ลูกหลานต้องประสบกับเรื่องเศร้าแบบนี้ ควรจะต้องสอนคุณหนูให้รู้วิธีการระมัดระวัง รู้จักทักษะชีวิตเพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงจุดอันตรายต่างๆ ตั้งแต่วันนี้
1.ให้ลูกมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องจุดเสี่ยงและสถานการณ์อันตราย ลองให้เขาค้นหาจุดเสี่ยงต่างๆ เองรวมทั้งร่วมแก้ไขความเสี่ยงและกำหนดกฎแห่งความปลอดภัยในบ้านร่วมกัน เช่น ไม่ขี่จักรยานบนถนนที่มีรถพลุกพล่าน ไม่เล่นบนถนน ไม่เล่นน้ำก่อนได้รับอนุญาต ไม่เล่นของใช้อันตราย ไม่เล่นของแหลม ไม่เล่นไฟ ไม่ปีนป่ายที่สูง ไม่รับของหรือไปกับคนแปลกหน้า และต้องขออนุญาตเมื่อต้องการออกนอกบริเวณที่ปลอดภัย
2. ให้ลูกได้พูดคุยแสดงความคิดเห็นและบอกเล่าเรื่องต่างๆ เช่น หากเพื่อนเกเร มีคนรังแก ยาเสพติดคืออะไร คนติดยาเป็นแบบไหน คนมีอารมณ์ผิดปกติแบบไหนไม่ควรอยู่ใกล้ รวมถึงคนเมาสุรา ให้ลูกรู้จักป้องกันตนเองจากภัยต่างๆ โดยเฉพาะภัยคุกคามทางเพศเช่น ไม่แต่งกายล่อแหลม ไม่ไปไหนคนเดียวหรือเดินทางในยามวิกาล
3. สร้างความไว้วางใจให้กับลูก หมั่นพูดคุย ให้ลูกเล่าเรื่องทุกอย่างที่พบเจอ เมื่อมีคนอื่นมากระทำหรือปฏิบัติไม่ดีกับลูก หรือมาแตะตัวสัมผัสลูกบริเวณร่างกายที่ควรปกป้องโดยเฉพาะหน้าอก ก้น และอวัยวะเพศ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10 เทคนิคสร้างทักษะชีวิตลูก เผชิญโลกยุคใหม่
พ่อแม่ควรรู้ เผย "6 เทคนิค" เลี้ยงลูกให้มี "ความสุข"
4. ฝึกสอนให้ลูกรู้จักการปฏิเสธ ไม่ยอมทำตามแม้จะเป็นคนใกล้ชิด เมื่อไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ถูกชักชวนให้ทำนั้นจะนำไปสู่อันตรายและสอนให้ลูกมีทักษะรู้จักจัดการความขัดแย้งอย่างเหมาะสมโดยไม่ใช้ความรุนแรง เช่น รับฟังความคิดเห็น ยอมรับผิด กล้าสารภาพในสิ่งที่ทำ ตั้งใจปรับปรุงตัวและควรมีทักษะในการแก้ปัญหา เช่น สอบถามพ่อแม่ก่อนเชื่อคนอื่นหรือตามคนอื่นไป ชักชวนคนรู้จักไปเป็นเพื่อนหรือกล้าเดินไปขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ โดยสอนให้ลูกรู้ว่าคนไหนคือน่าจะช่วยเหลือเขาได้ เช่น แต่งกายเป็นรปภ. หรือตำรวจ
5. ฝึกให้ลูกรู้จักหลีกเลี่ยงหรือขอความช่วยเหลือ เมื่อถูกคุกคามรุกเร้าทางร่างกายหรือทางเพศ เช่น ตะโกนหรือร้องขอความช่วยเหลือ หาอุปกรณ์ป้องกันตัว โทรศัพท์บอกคนใกล้ชิด เดินหนี วิ่งหนีไปขอความช่วยเหลือคนอื่น
6. หากลูกถึงวัยที่เริ่มมีอารมณ์ทางเพศ พ่อแม่อาจต้องสอนให้ลูกได้ฝึกคุมอารมณ์ตนเองหรือหัดระบายออกทางเพศอย่างเหมาะสม เช่น ออกกำลังกาย เล่นดนตรี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสื่อลามก วางตัวให้เหมาะสมกับคนแปลกหน้า
7. ควรให้ลูกเรียนหรือฝึกทักษะความปลอดภัยประจำตัว เช่น ว่ายน้ำให้เป็น การขึ้นเรือ ช่วยคนตกน้ำที่ถูกต้อง ขี่จักรยานต้องใช้หมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัย การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมืองานบ้าน หรือการระมัดระวังในการใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อให้ลูกสามารถดูแลและป้องกันโรคได้ด้วยตัวเอง
8. ฝึกและสอนลูกให้รู้จักทักษะการป้องกันอันตราย การหนีจากภัยธรรมชาติที่พบได้บ่อยในชุมชน เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมต้องระวังอะไร ไฟไหม้ คลื่นยักษ์สึนามิ ฝึกให้หัดหนีไฟ ตะโกนขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ระวังเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่สำคัญคือต้องรู้จักใช้โทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉินเช่น 191 และ 1669
9. เมื่อลูกโตพอควรสอนวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน การเป่าปาก CPR การกดท้องเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากหลอดลม กรณีมีคนในบ้านมีอาการสำลักหรือสิ่งของติดคอ
ขอบคุณข้อมูลจาก คู่มือสําหรับพ่อแม่เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก เด็กวัยเรียน 6-12 ปี
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย