โรคภัยทาง"จมูก" รีบสังเกตและรักษาก่อนช้าเกินไป
นอกจากหวัดหรืออาการแพ้ฝุ่นต่างๆ แล้ว ยังมีโรคภัยทางจมูกอื่นๆ ที่ควรสังเกตและระวังเพราะหากปล่อยไว้จะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเรื้อรังรุนแรง
จมูก ถือเป็นอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินหายใจซึ่งหากมีปัญหาจะส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้รวดเร็ว ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติแค่น้อยนิดอย่านิ่งนอนใจ ทุกคนจึงควรรู้จักโรคเกี่ยวกับจมูกที่ต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอ
ริดสีดวงจมูก
เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยแต่มักพบมากในผู้ชายในวัยผู้ใหญ่แล้ว โรคนี้จะทำให้มีการเจริญเติบโตผิดปกติของเยื่อบุโพรงจมูกหรือโพรงไซนัส แต่ไม่ใช่มะเร็ง มีลักษณะเหมือนหยดน้ำหรือเมล็ดองุ่น เกิดขึ้นที่บริเวณโพรงจมูกหรือโพรงไซนัส อาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนเป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรังจากโรคหอบหืด ภูมิแพ้ หรือความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยหลักๆที่ทำให้เกิดโรค คือ การเป็นหวัดบ่อย เกิดจากการติดเชื้อในโพรงจมูกซ้ำๆ พร้อมกับร่างกายอยู่ในช่วงที่ไม่มีภูมิต้านทานที่แข็งแรงดีพอ ทำให้เกิดการบวมในโพรงจมูกบ่อยๆ และเป็นนานๆ จนเกิดเป็นโรคริดสีดวงจมูกได้ นอกจากนี้ คือ การตอบสนองของปลายประสาทที่หลอดเลือดโพรงจมูกมีความไวเกินไป
อาการ : ในช่วงแรกบางคนอาจจะยังไม่มีอาการ แต่หากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่จะทำให้หายใจลำบาก มีปัญหาในการดมกลิ่นหรือเกิดการติดเชื้อได้ง่าย อาจรู้สึกถึงแรงกดปวดแน่นที่บริเวณใบหน้าและหน้าผาก มีอาการคัดแน่นจมูก ซึ่งจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงมีอาการจามหรือมีน้ำมูก ซึ่งมีได้ทั้งน้ำมูกแบบใส ขุ่นข้น หรือน้ำมูกเหนียวหรือมีเหลือง เขียว บางคนที่มีไซนัสอักเสบร่วมด้วย อาจมีน้ำมูกมีเสมหะเหลืองหรือเขียวไหลลงคอ อาจมีอาการปวดตื้อบริเวณแก้มหรือสันจมูก ปวดหรือมึนศีรษะ มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ไอ หรือ กระแอมบ่อย ระคายคอ แสบคอ และหูอื้อได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เสริมจมูกอย่างไรให้ปลอดภัย
- เปิดวิธีการฝึกหายใจสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ป้องกันภาวะปอดแฟบ - ระบายเสมหะ
- ไซนัสอักเสบ
ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้จมูก
ภูมิแพ้อากาศหรือภูมิแพ้จมูกจะมีอาการที่เกิดขึ้นบริเวณโพรงจมูกและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ หลังจากที่คนแพ้นั้นหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันขับสารเพื่อทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้
อาการ : จามบ่อย มีอาการคันและมีการอักเสบบวมทั่วใบหน้า รอบดวงตา รวมไปถึงการอักเสบจมูก ปาก และลำคอ ทำให้มีอาการได้หลายอย่างทั้งคัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ หายใจไม่ออก หอบหืด ไอ เจ็บคอ หูอื้อ ตาแดง ประสาทรับกลิ่นทำงานได้แย่ลง และอาจมีไข้ร่วมด้วย
โรคจมูกอักเสบ
โรคจมูกอักเสบมักทำให้มีการระคายเคืองและอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก จากการที่มีสิ่งกระตุ้นมาทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวมและมีสารคัดหลั่งหรือมูกเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งเกิดได้ทั้งจากสารที่ก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ แมลงบางชนิด และเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ความชื้นในอากาศ อากาศแห้ง เย็นหรือร้อนจัด สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียได้ด้วย
อาการ : มีอาการคัดจมูก แน่นตันจมูกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง มีน้ำมูกไหล อาจมีอาการหูอื้อ รู้สึกเจ็บที่ด้านหลังหู มีอาการปวดศีรษะหนักท้ายทอยโดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน รวมถึงทำให้มีอาการร่างกายอ่อนเพลีย มีอาการมึนและปวดศีรษะ
ไซนัสอักเสบ
ทำความรู้จักก่อนว่าไซนัสคืออะไร?... ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่รอบๆ โพรงจมูกทั้งซ้ายและขวา มีหน้าที่ให้ความอบอุ่นและความชื้นแก่อากาศที่หายใจเข้าไปในทางเดินหายใจ ช่วยปรับเสียงพูด ช่วยในการรับรู้กลิ่น รวมถึงสร้างเมือกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก ปกติทางเชื่อมต่อนี้จะเปิดโล่ง ซึ่งทำให้เมือกหรือน้ำมูกใสๆ ที่มีการสร้างอยู่ในไซนัส จะสามารถไหลระบายลงสู่โพรงจมูกได้ แต่หากทางเชื่อมนั้นเกิดการอุดกั้น เมือกที่ผลิตในไซนัสไม่สามารถออกมาได้ ก็จะทำให้มีอาการต่างๆ และการอักเสบได้
อาการ : มีอาการคัดจมูกบ่อยๆ พูดเสียงขึ้นจมูกมีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกไหลลงในคอ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ยังมีอาการปวดบริเวณหน้าผาก หัวคิ้ว ระหว่างตาทั้งสองข้างหรือบริเวณแก้ม ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง รูเปิดระหว่างช่องจมูกและไซนัสมีการตีบตันนานจนเรื้อรัง การบวมของเยื่อบุอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นริดสีดวงจมูกหรือมีการอักเสบติดเชื้อเป็นหนองในไซนัสได้
ป้องกันไซนัส ด้วยการระมัดระวังไม่ให้เป็นหวัดบ่อยๆ กินอาหารที่มีประโยชน์อุดมด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทดี ไม่มีมลพิษ หากมีน้ำมูกหรือคัดจมูกให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ งดการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงที่มีอาการควรงดการว่ายน้ำหรือขึ้นเครื่องบิน หากมีอาการผิดปกติเรื้อรัง (สังเกตอาการต่างๆ ได้ระยะหนึ่ง) ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยด่วน
ขอบคุณข้อมูลจาก สสส. ภาพจาก รพ.ธนบุรี และ Pixabay