ไลฟ์สไตล์

"ไฟฟ้าดูด" อันตรายถึงชีวิต ลดความเสี่ยงในเด็ก วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

"ไฟฟ้าดูด" อันตรายถึงชีวิต ลดความเสี่ยงในเด็ก วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

22 ส.ค. 2564

"ไฟฟ้าดูด" ความอันตรายที่รุนแรงถึงชีวิต ถือเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนควรรู้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดในเด็ก และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

จากการสำรวจพบว่าในประชากรเด็ก มีการเสียชีวิตจาก "ไฟฟ้าดูด" สูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากการเสียชีวิตด้วยการ จมน้ำ เป็นอันดับ 1 และเสียชีวิตจากการ จราจร เป็นอันดับที่ 2 ตามลำดับ ดังนั้น การป้องกันและการปฐมพยาบาลจากปัญหาไฟฟ้าดูด ถือเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนควรรู้

ปัญหาไฟฟ้าดูดที่เกิดกับเด็ก

  1. เด็กที่เริ่มชูนิ้วและเคลื่อนไหวร่างกายได้ มักมีการแหย่นิ้วมือลงไปในช่องต่าง ๆ เช่น รางปลั๊กไฟที่ถูกวางไว้บนพื้น ทำให้มีความเสี่ยงจากไฟฟ้าดูด
  2. เด็กที่เริ่มใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ อาจมีการใช้งานที่ผิดวิธี และนำไปสู่ปัญหาไฟฟ้าดูด
  3. ปัญหาจากกิจกรรมการเล่น หรือการเล่นในพื้นที่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เช่น เครื่องเล่นสวนสนุก สวนน้ำ ลานปาร์ตี้โฟม เป็นต้น

 

 

การป้องกันอุบัติเหตุจาก ไฟฟ้าดูด ในเด็ก

  1. ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
  2. จัดสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัย เช่น ไม่วางรางปลั๊กไฟไว้ที่พื้น หรือที่ที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น
  3. เดินสายดินและติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วภายในบ้าน
  4. สอนการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกต้องให้กับเด็ก เมื่อถึงวัยที่สามารถใช้งานได้

 

 

วิธีปฐมพยาบาลผู้ประสบเหตุ ไฟฟ้าดูด

  1. หากพบเห็นผู้ประสบเหตุไฟฟ้าดูด อย่าเพิ่งเข้าไปช่วยทันที ให้ตัดแหล่งกำเนิดไฟฟ้าก่อน แล้วจึงเข้าไปช่วยเหลือตามลำดับ
  2. หากผู้ประสบเหตุ มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จำเป็นต้องใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ (AED) ควรโทรเรียกรถพยาบาล 1669 หรือหาเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจที่ใกล้ที่สุดมาปฐมพยาบาลผู้ประสบเหตุ
  3. ระหว่างรอรถพยาบาลให้คลำหาชีพจรผู้ประสบเหตุ หากผู้ประสบเหตุไม่มีชีพจรแล้ว ให้ทำการปั๊มหัวใจรอเพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงสมอง ระหว่างที่หัวใจไม่ทำงาน และเมื่อได้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจมาให้รีบใช้ทันที

 

ข้อมูล : โรงพยาบาลรามาธิบดี