“โรคกลาก” และ เกลื้อน ต่างกันอย่างไร? สังเกตและแยกให้ชัด
รู้จักและแยกให้ถูกระหว่างโรค “กลาก”และ “เกลื้อน” โรคผิวหนังติดเชื้อง่าย รวมทั้งวิธีป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ
โรคกลากและโรคเกลื้อน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราบนผิวหนังภายนอกที่พบเห็นได้บ่อยๆ จนหลายคนแยกไม่ออกว่าอาการแบบไหนคือโรคกลากและแบบไหนคือโรคเกลื้อน ยิ่งใครที่ไม่ได้ไปหาหมอแต่ซื้อยามาเอง นอกจากโรคจะไม่หายยังอาจทำให้ผิวหนังติดเชื้อลุกลามได้ เราจึงจะมาให้ข้อมูลการสังเกตลักษณะอาการที่แตกต่างของทั้งสองโรคนี้มาฝาก
กลาก: เกิดจากการสัมผัสหรือใช้ของร่วมกับผู้ที่เป็น มีผิวหนังเปียกชื้นนาน พบบ่อยบริเวณลำตัว เท้า ขาหนีบ มีลักษณะเป็นวงขอบสีแดงนูนเล็กน้อย มักมีอาการคัน เกิดได้ง่ายหากร่างกายเปียกอยู่เป็นเวลานาน เช่น เล่นน้ำสงกรานต์ หรือลุยน้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สุดยอด "สมุนไพร" ช่วยรักษา "โรคผิวหนัง" หาได้ง่ายๆใกล้ตัว
- "คำฮ่อ"แก้คัน-กลากเกลื้อน
- ห่างไกล"โรคไฟลามทุ่ง" รู้วิธี"ป้องกันตัว"
หนังศีรษะ/เส้นผม : มีผื่นเป็นวงกลมมีขอบเขต มีสะเก็ด ขุย ขาว เส้นผมร่วง อาจมีตุ่มหนอง
ใบหน้า/ลำตัว/แขน/ขา : ผื่นเป็นวงแหวน ขอบเขตชัดเจน มีขุยที่ขอบ ขอบขยายออกเรื่อยๆ
มือ/เท้า : มีผื่นเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน มีขุยที่ขอบ ง่ามนิ้วเปื่อยยุ่ย มีกลิ่น
เล็บมือ/เล็บเท้า : สีขาวขุ่น เล็บขรุขระ เล็บหนาขึ้น เล็บอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
การป้องกัน : หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้ของใช้ร่วมกันกับคนอื่น หมั่นรักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และเช็ดตัวให้แห้ง ที่สำคัญคือ ป้องกันอย่าให้เกิดความอับชื้นในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น คนที่มีเหงื่ออับชื้นบริเวณขาหนีบ ควรเลี่ยงการใส่กางเกงในที่รัดแน่นหรืออบจนเกินไป หรือคุณผู้ชายที่มักใส่ถุงเท้าและรองเท้าทำให้ง่ามนิ้วเท้าอับชื้น ควรเลี่ยงใส่ถุงเท้าไนล่อนหรือใยสังเคราะห์ ส่วนคนทั่วไปหลังอาบน้ำหรือไปย่ำน้ำทำให้ซอกนิ้วเท้าเปียก ก็ควรเช็ดให้แห้ง
เกลื้อน : เกิดตามผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก เหงื่อออกมาก ลักษณะผื่นเป็นดวง ผื่นมีสีขาว หรือสีน้ำตาล หรือสีชมพูแดง หรือเป็นวงรีเล็กๆหลายอัน แต่มักไม่คัน มีการขยายขนาดเป็นผื่นใหญ่ได้ และมักจะเกิดช่วงอากาศร้อนขณะที่มีเหงื่อออกเยอะ เช่น หลังเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย หรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน
การป้องกัน : คือการดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายสม่ำเสมอ อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ไม่ใส่เสื้อผ้าที่อับเหงื่อหรืออับชื้น และเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวัน ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น
โรคกลากและเกลื้อน แม้ว่าจะไม่ร้ายแรงและสามารถรักษาหายได้เอง แต่โรคเหล่านี้มักจะหายช้า ต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลานาน ดังนั้นหากสามารถดูแลและป้องกัน สร้างสุขอนามัยที่ดี โดยหลังจากการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ควรจะรีบล้างมือให้สะอาด ล้างทุกซอกทุกมุม เท่านี้ก็จะสามารถป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคกลากและเกลื้อนได้
ข้อมูลและภาพจาก https://pharmacy.mahidol.ac.th, https://th.yanhee.net, http://www.trangskin.go.th/tinea-observe,http://healthydee.moph.go.th