เตือน 3 "สมุนไพร" ส่งผลต่อไต ตับ หัวใจ ห้ามกินยาวนาน
เตือน 3 "สมุนไพร" รางจืด หญ้าหนวดแมวและยอ ห้ามกินต่อเนื่องยาวนานเพราะส่งผลเสียต่อการทำงานของตับ ไต หัวใจ และระบบเลือด
ขึ้นชื่อว่า"สมุนไพร"และมาจากธรรมชาติ หลายคนจึงมักไว้ใจคิดว่าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและกินได้ยาวนาน แต่อาจไม่รู้ว่ามีสมุนไพรบางชนิด ที่ไม่ควรกินติดต่อกันเพราะส่งผลร้ายต่ออวัยวะในร่างกาย ไปดูกันว่าพืชสมุนไพรที่ว่านั้นคืออะไร
1. รางจืด
เป็นพืชในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของเอเชีย ถือเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมนำมาใช้บรรเทาอาการปวดท้องหรือท้องเสีย ใช้ปรุงเป็นยาเขียว แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำและใช้ขับสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกาย นอกจากนี้รางจืดยังมีผลต่อการช่วยต้านพิษยาฆ่าแมลง ช่วยแก้อาการเมาค้างได้เป็นอย่างดี รวมถึงยังมีการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและความปลอดภัย ที่พบว่ารางจืดนอกจากจะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ต้านการอักเสบ ต้านการเกิดพิษและขับพิษสารเคมีออกจากกระแสเลือดได้แล้วยังสามารถต้านพิษสุราได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง : ไม่ควรกินรางจืดติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อตับ ไต และระบบเลือดได้ และต้องระวังการใช้ในผู้ป่วยตับไต และไม่ควรกินติดต่อเกิน 1 เดือน เนื่องจากเป็นยาฤทธิ์เย็น รวมทั้งยังไม่มีรายงานความปลอดภัยในการใช้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ให้นมบุตรและเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ดังนั้นกลุ่มนี้จึงควรหลีกเลี่ยงและงดกินรางจืดเช่นกัน นอกจากนี้ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาอื่นอย่างต่อเนื่องเพราะยารางจืด อาจเร่งการขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ทำให้ประสิทธิผลของยาที่กินอยู่ลดลงได้ (ควรกินห่างจากยาโรคประจำตัว หรือยาตามปกติอย่างน้อย 2 ชั่วโมง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทำความรู้จัก ..."หญ้าหนวดแมว" สมุนไพรใกล้ตัว
- เปิดสูตรสมุนไพร 7 นางฟ้า ต้านโควิด
- "ย่านาง" สมุนไพรมหัศจรรย์ สารพัดค่าทางยา
2. หญ้าหนวดแมว
เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นกิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีใบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ขอบใบหยัก แผ่นใบสีเขียวเข้ม ดอกสีขาวอมม่วงอ่อนกับพันธุ์ดอกสีฟ้า หญ้าหนวดแมวเป็นพืชสมุนไพรที่นำส่วนต่างๆ มาใช้ ได้แก่
- ราก ใช้ช่วยในการขับปัสสาวะ
- ต้น มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ รักษาโรคกระษัย รักษาโรคปวดตามสันหลังบั้นเอว และขับนิ่วในไตได้
- ใบ นำมารักษาโรคไต รักษาโรคปวดข้อ ปวดหลัง ไขข้ออักเสบ ลดความดันโลหิต รักษาโรคเบาหวาน โดยมีการศึกษาจาก โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ยาชงจากหญ้าหนวดแมวที่ชงกับน้ำเดือด ให้คนไข้ดื่มต่างน้ำ พบว่าอาการปวดนิ่วลดลงได้และนิ่วมีขนาดเล็กลงจนหลุดออกมาได้
ข้อควรระวัง : เนื่องจากหญ้าหนวดแมว มีเกลือโปแตสเซียมสูง หากบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อไต และหัวใจได้ รวมถึงคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคไต ห้ามรับประทาน เพราะหากไตไม่ปกติจะไม่สามารถขับโปแตสเซียมออกมาได้ และระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยากินลดน้ำตาลในเลือดหรือร่วมกับการฉีดอินซูลิน เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้
3. ยอ
เป็นต้นไม้สูงประมาณ 2-6 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออก กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปรี ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ผลมีผิวขรุขระเป็นตุ่ม หากสุกแล้วมีกลิ่นเหม็นเอียน เมล็ดสีน้ำตาลมีหลายเมล็ด มักนิยมนำสมุนไพรยอมาใช้จากหลายส่วน อาทิ
- ใบยอ มีวิตามินช่วยบำรุงสายตา หัวใจ คั้นน้ำทาแก้โรคเก๊าท์ ปวดตามข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือคั้นน้ำสระผมฆ่าเหา แก้กระษัย ใช้ใบปรุงเป็นอาหาร แก้ท้องร่วง
- ราก สามารถใช้เป็นยาระบาย แก้กระษัย ใช้สกัดสีออกมาเป็นสีย้อมผ้าได้
- ผลโตยังไม่สุก นำมาจิ้มน้ำผึ้งรับประทาน มีคุณสมบัติเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ลดการเกิดกรดไหลย้อนทำให้เจริญอาหาร ขับเลือดลม ขับประจำเดือน ใช้ผลดิบหรือผลห่าม ช่วยบรรเทาหรือแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียนได้
ข้อควรระวัง : ไม่ควรกินสมุนไพรยอติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะมีเกลือโปแตสเซียมสูงอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต รวมทั้งผู้ป่วยโรคไตไม่ควรบริโภคเพราะอาจทำให้อาการของโรคไตรุนแรง และทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้
...เมื่อเห็นแล้วว่าสมุนไพรนั้นมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ฉะนั้นก่อนจะเลือกซื้อสมุนไพรทุกชนิด ควรศึกษาข้อมูลและอ่านฉลากว่ายาหรือสมุนไพรนั้นมีการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) หรือไม่ รวมถึงต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,http://www.rspg.or.th/plants, https://www.thailandplus.tv/archives/353575
https://www.fda.moph.go.th/Herbal