ลดเสี่ยง “ไขมันพอกตับ” ฉบับ Work from Home
ระวัง! สำหรับคนที่ต้อง Work From Home ไม่ได้ไปไหนช่วงที่มีโควิดระบาด อาจมีปัญหาน้ำหนักตัวและไขมัน เสี่ยง “ไขมันพอกตับ” ภัยเงียบที่กว่าจะมีอาการก็ป่วยหนักแล้ว
นพ.จีรวัส ศิลาสุวรรณ อายุรศาสตร์ทางเดินอาหารและตับ ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลตับและป้องกันไขมันพอกตับไว้ดังนี้
“ตับ” ของคนเรามีหน้าที่หลายอย่าง แต่ที่เกี่ยวข้องกับไขมันโดยตรงคือ การผลิต ’น้ำดี’เพื่อย่อยไขมันและเก็บสะสมพลังงานจากอาหารที่เรากินเข้าไปในรูปของไขมัน ขณะเดียวกันตับก็มีหน้าที่กำจัดของเสีย นอกจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีสาเหตุอื่น เช่น น้ำตาลจากน้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้กระป๋อง ก็เป็นสาเหตุของไขมันเกาะตับได้ ซึ่งทำให้ตับต้องทำงานหนักขึ้น และเมื่อไหร่ก็ตามที่ตับทำงานหนักเกินไปก็จะเกิดความเสียหายและนำไปสู่การอักเสบและการเกิดโรคอื่นๆ ตามมา ยังไม่รวมถึงการมีภาวะของโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน (ดัชนีมวลกายหรือ BMI ได้ตั้งแต่ 25-30 ขึ้นไป) รวมถึงการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตับโดยตรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อ้วนน้ำหนักเกินจาก "ไขมันพอกตับ"ปัจจัยไปสู่มะเร็งเร็งตับ
- รู้จัก 7 ซูเปอร์ฟู้ดส์ "บำรุงตับ" ไม่แก่ไม่อ้วนง่าย
- 'ไขมันพอกตับ' ภัยเงียบของคนอ้วน
อยู่บ้านออกกำลังกาย สลายไขมันด้วยหัวใจโซน 2
เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องนำไปสู่การเป็นไขมันพอกตับ ดังนั้นเพื่อป้องกันให้ถูกทางเราจึงควรลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือหากเป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากก็ควรลดน้ำหนักโดยให้ค่า BMI อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ควรลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วหรือเกินกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ เพราะจะเป็นอันตรายต่อตับได้
ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้บอกไว้ว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้หัวใจเต้นอยู่ในโซน 2 จะช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินได้ดีที่สุด เพราะร่างกายจะดึงพลังงานจากไขมันออกมาใช้เป็นอย่างแรก
"สูตรการเต้นของหัวใจโซน 2”
วิธีคิดอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ในโซน 2 ก็มีสูตรง่ายๆ คือ นำตัวเลข 220 ลบด้วยอายุ เช่น อายุ 30 ปี จะได้ตัวเลข 220-30=190 ให้นำตัวเลข 190 นั้น มาคำนวณให้ที่ 60-70% ซึ่งก็คือ 114-133 อันเป็นอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกายเผาผลาญไขมันนั่นเอง
ออกกำลังกาย กินอาหารที่ดี ป้องกันท้องผูก
ข้อสำคัญของการออกกำลังกายเพื่อป้องกันไขมันพอกตับ คือการทำให้ได้วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ร่วมกับการเลือกรับประทานอาหารปรุงแต่งน้อยในสัดส่วนที่เหมาะสม ละลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีรวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนก่อนสี่ทุ่มซึ่งเป็นช่วงที่ตับซ่อมแซมตัวเองได้ดีที่สุด และหลีกเลี่ยงอาการท้องผูกเพราะจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้หากเป็นไปได้แนะนำให้ควรไปตรวจสุขภาพประจำทุกปี เท่านี้ก็จะช่วยให้ไขมันในตับลดลงได้
แต่หากใครยังกังวลหรือสงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคไขมันพอกตับซะแล้ว ก็สามารถเข้ารับการตรวจวัดปริมาณไขมันในตับได้ด้วยเครื่อง FibroScan ที่โรงพยาบาลชั้นนำทั่วไป
สมุนไพรกินได้ แต่ต้องกินให้เป็น
แม้สมุนไพรจะเป็นยาที่ผลิตจากธรรมชาติ และในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ประชาชนส่วนหนึ่งก็หันมาเลือกกินสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจร เพราะหาได้ง่ายกว่ายาแผนปัจจุบัน แต่การใช้อย่างไม่ถูกวิธีก็อาจส่งผลเสียต่อตับได้ เนื่องจากตับต้องทำงานหนักขึ้นในการกำจัดสารที่มากับยา นอกจากนี้ฟ้าทะลายโจรยังมีฤทธิ์เย็น การกินมากหรือติดต่อกันนานอาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด เกิดอาการอ่อนเพลีย แขนขาชา รวมถึงระบบย่อยอาหารอ่อนแอซึ่งทำให้ท้องเสีย โปรดจำไว้ว่าการกินยาฟ้าทะลายโจรนั้น เราจะกินเพื่อการรักษา ไม่ควรกินเพื่อป้องกัน
ท้ายที่สุดก่อนกินยาสมุนไพรใดๆ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร มิเช่นนั้นอาจได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจากปริมาณยาและการกินติดต่อนานเกินไป ทั้งนี้ หากมีอาการแพ้ เช่น มีผื่นขึ้น หายใจขัด หน้าหรือริมฝีปากบวม ต้องหยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์ทันที ที่สำคัญควรหาซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และมีเครื่องหมาย อย. กำกับด้วยเสมอ
ขอบคุณข้อมูลภาพจาก : โรงพยาบาลพญาไท 2