รู้จัก “เต่าจักร” มีเฉพาะภาคใต้ ใกล้สูญพันธุ์
ทำความรู้จัก “เต่าจักร”เต่าน้ำจืดขนาดเล็ก รูปร่างสวยแปลกตา สัตว์ป่าคุ้มครองที่พบเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งตอนนี้พบน้อยจนใกล้จะสูญพันธุ์
หลายคนร้องว้าวและอุทานว่าน่ารัก เมื่อได้เห็นเจ้า “เต่าจักร” ตามภาพ เพราะไม่เคยเห็นและไม่รู้จักเต่าจักร เต่าตัวน้อยที่อยู่ในสถานภาพ "ใกล้สูญพันธุ์" ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 โดยล่าสุดวันนี้ (27 สิงหาคม) อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ได้เผยแพร่ภาพที่บันทึกไว้ได้ขณะลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และให้ข้อมูลว่า "เต่าจักร" (Spiny turtle, Spiny terrapin) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heosemys spinosa เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทเต่าชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์เต่านา (Geoemydidae)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขข้อข้องใจ "เต่า" สัตว์ดึกดำบรรพ์ 200 ล้านปี
- 'เต่า'เหยื่อความเชื่อลักลอบค้า...ล่าล้างเผ่าพันธุ์
- "นกแก้วโม่ง" สัตว์คุ้มครองใกล้สูญพันธุ์หลังฮือฮาโผล่เมืองนนท์ หรือจะเป็นฝูงสุดท้าย
“เต่าจักร” หรือ เต่าหนาม เป็นเต่าน้ำจืดขนาดเล็ก ที่มีกระดองส่วนบนยาวเต็มที่ ประมาณ 23 เซนติเมตร กระดองหลังค่อนข้างกลมและแบน มีสันหนาเป็นเส้นกลางแผ่นเกล็ดสันหลังทุกแผ่น และมีตุ่มหลายตุ่มบนแผ่นเกล็ดชายโครงแต่ละแผ่น เมื่อยังเป็นเต่าวัยอ่อนจะมีแผ่นเกล็ดขอบกระดองแต่ละชิ้นคล้ายหนามแหลม 1 หนามคล้ายจักร อันเป็นที่มาของชื่อ ยกเว้นแผ่นเกล็ดขอบกระดอง ที่ 4 ที่ 5 จะมี 2 หนาม โดยหนามที่ปรากฏในลูกเต่าจะค่อย ๆ หายไปเมื่อโตเต็มที่ ขาหน้าของเต่าจักรไม่มีผังพืด กระดองหลังสีน้ำตาลแดง กระดองท้องและด้านข้างแผ่นเกล็ดขอบกระดองออกสีเหลืองหรือสีส้ม และมีเส้นลายสีน้ำตาลดำ ขาสีน้ำตาลดำเกล็ดลำตัวออกสีชมพูอ่อน ผิวสีน้ำตาลเทา ส่วนหัวสีน้ำตาล
อาหารของเต่าจักร ได้แก่ พืช ผลไม้ ลูกไม้และซากสัตว์ พฤติกรรมของเต่าจักรจะไม่ค่อยลงน้ำ มักหลบซ่อนตัวอยู่ใต้กองใบไม้ หากินเวลาเช้าตรู่ขณะที่ยังมีน้ําค้างเกาะใบไม้ โดยถิ่นอาศัยของเต่าจักรมักมีการกระจายพันธุ์ในพื้นป่าที่เย็น พื้นที่ชุ่มชื้นของป่าดิบตั้งแต่แหลมมลายูลงไป ในมาเลเซีย สุมาตราและบอร์เนียว โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย ส่วนการขยายพันธุ์ถือเป็นเต่าที่มีการขยายพันธุ์ทางธรรมชาติน้อยมาก เนื่องจากจะวางไข่เพียงแค่ 2-3 ครั้งต่อปี และวางไข่ครั้งละ 1-2 ฟองเท่านั้น ทำให้เต่าจักรเสี่ยงที่จะเป็นสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ เต่าจักรจึงป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์