5 วิธี"เลี้ยงลูก"จิตใจแข็งแรงวันนี้ ดีกว่าซ่อมตอนเป็นผู้ใหญ่
อย่ารอให้ต้องซ่อมกายใจที่พังไปแล้วเมื่อลูกเป็นผู้ใหญ่ แค่เพียงพ่อแม่ใช้ 5 วิธีนี้ สร้างสายสัมพันธ์ในการเลี้ยงลูกตั้งแต่เด็ก วันข้างหน้าลูกก็จะเติบโตได้สดใสงดงาม
Frederick Douglass นักเขียน นักพูด บรรณาธิการ รัฐบุรุษ และนักปฏิรูปชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ได้เคยกล่าวไว้ว่า “It is easier to build strong children than to repair broken adults" แปลว่า “การสร้างเด็กที่แข็งแรง ง่ายกว่าการซ่อมผู้ใหญ่ที่พังไปแล้ว” เพราะเมื่อคนคนนึงโตเป็นผู้ใหญ่ ผ่านการหล่อหลอมจากสิ่งต่างๆ มามากมาย การปรับเปลี่ยนความคิดและจิตใจ หรือการจะไปแก้ไขสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นแสนยาก แต่หากพ่อแม่สร้างเด็กให้แข็งแรงด้วยสายสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่วัย 6 ปีแรก ย่อมเป็นการวางรากฐานอันมั่นคง ให้ลูกมีภูมิคุ้มกันทางใจ พร้อมที่จะเผชิญวันข้างหน้าและตัดสินใจที่จะทำอะไรได้ถูกต้องในอนาคต
นักจิตวิทยาจากเพจ “ตามใจนักจิตวิทยา” ได้ให้ความรู้และแนวทางการสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับลูกในช่วงสำคัญที่สุดตั้งแต่แรกเกิด -6 ปีแรก ด้วยวิธีการดังนี้
1. เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง
การเป็นพ่อแม่ที่ทำงานด้วยเลี้ยงลูกเองด้วย แม้จะต้องเหนื่อยแสนสาหัส แต่ก็คุ้มค่าและมีความสุข ซึ่งการเป็นพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องทำทุกวันให้ดีเลิศเลอสมบูรณ์แบบ การจะผิดพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร หากเหนื่อยมากก็ควรพักทั้งกายและใจ ตราบใดที่เรายังมีชีวิตและเรายังอยู่ด้วยกันกับลูกตรงนี้ ควรต้องค่อยๆ เรียนรู้และเริ่มใหม่ได้เสมอ ในทางกลับกัน หากเราให้คนอื่นเลี้ยงลูกแทนเรา เมื่อเกิดปัญหา ผู้ที่ต้องแก้ปัญหาไม่ใช่ใครอื่น แต่คือเราพ่อแม่นี่แหละที่ต้องตามแก้ ซึ่งหากครอบครัวไม่มีสายสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ลูกก็จะไม่รู้สึกผูกพันกับเรา ไม่เชื่อฟังเรา แม้เราจะสอนเขาเตือนเขาอย่างไร เขาก็คงไม่ฟังเราแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
2.ใช้เวลาคุณภาพกับลูก
การใช้เวลากับลูกถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆ ต่อการสร้างลูกให้เติบโตมีคุณภาพในอนาคต ฉะนั้นแค่เพียงการอ่านนิทาน เล่นกับลูก นอนกอดลูก ชวนทำงานบ้านและอื่นๆ ถือเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและสร้างช่วงเวลาแห่งความสุขกับลูกในวัยที่เขาต้องการเราอยู่ เพราะลูกจะไม่ได้เป็นเด็กตลอดกาล เขาโตเร็วกว่าที่เราคิดนัก การให้เวลาแม้จะ "น้อยนิด แต่มหาศาล" ทำให้เวลานั้นมีคุณภาพที่สำคัญกว่าปริมาณ แม้มีเวลาน้อยนิดแต่ถ้าสม่ำเสมอ เวลานั้นมีคุณค่ามหาศาล ซึ่งหากพ่อแม่จำเป็นต้องทำงาน ก็สามารถรีบกลับบ้าน มาใช้เวลากับลูกช่วงเย็นหรือส่งเขาเข้านอน หากทำงานทุกวัน กลับบ้านได้แค่เสาร์-อาทิตย์ พ่อแม่ควรวางมือถือ มอบเวลาให้กับลูกในช่วงวันที่มีให้เขา หรือสุดท้ายถ้าต้องอยู่ห่างไกลกันเทคโนโลยีช่วยเราได้ วีดีโอคอลหาลูกทุกวันเวลาเดิม สม่ำเสมอ ช่วยเชื่อมสายใยได้ รวมถึงหากพ่อแม่ไม่รู้จะคุยอะไรกับลูก อาจแค่อ่านนิทาน เล่าเรื่องสมัยเราเป็นเด็ก ร้องเพลงให้ลูกฟัง เท่านี้ก็คือสิ่งที่เราสามารถทำได้และมีคุณค่าต่อลูกไปจนโต
3. ใจดี แต่ไม่ใจอ่อน
คือการที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความรักและความสนใจกับลูกแต่ไม่ใช่ตามใจลูก โดยควรให้อิสระภายใต้ขอบเขต เช่น ตั้งกฎ 3 ข้อสำคัญที่ทุกบ้านควรมี นั่นคือ ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำลายข้าวของ เมื่อลูกทำผิด พ่อแม่ต้องสอนในสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ รวมถึงรู้จักการลงโทษที่เหมาะสม การที่พ่อแม่สอน “วินัย” ได้แก่ การช่วยเหลือตัวเองตามวัย เช่น กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว และอื่น ๆ การรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายตามวัย เช่น งานบ้าน การบ้าน และงานอื่น ๆ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี รู้จักช่วยเหลือตัวเอง
4. หากทำผิดพลาด ขอโทษอีกฝ่าย ไม่ลืมให้อภัยตัวเอง
เป็นพ่อแม่ไม่ได้แปลว่าเราถูกเสมอ หรือกลายเป็นผู้วิเศษที่มีอำนาจเหนือกว่าลูกทั้งหมด เพราะพ่อแม่ก็ยังเป็นคนธรรมดา ทำผิด ทำพลาด อยู่บ่อยครั้งได้ ฉะนั้นเวลาพ่อแม่ทำผิดพลาดต่อลูก เราควรพูดขอโทษลูกเหมือนที่เราสอนลูกให้ขอโทษอีกฝ่ายเมื่อเขาทำผิด นอกจากนี้อย่าลืมที่จะให้อภัยตัวเองและลูกเวลาที่ทำผิดพลาดไป ที่สำคัญต้อง “ไม่หาผู้กระทำผิด” เพราะทุกการทะเลาะกัน ไม่ควรให้ความสำคัญกับการหาผู้กระทำผิด หรือ การเอาชนะอีกฝ่ายเพราะสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ทำอย่างไรดีเพื่อให้เรากลับมาเข้าใจกันและรักกันมากกว่าเดิม ฉะนั้นควรให้อภัยและเห็นความรักของคนในบ้านสำคัญกว่าการเอาชนะหรือจับผิดกัน
5. ชื่นชมทุกๆ สิ่งแม้จะเล็กน้อย
หมั่นชื่นชมและชมเชยลูก ด้วยคำพูดหรือแสดงความรู้สึกขอบคุณทุกๆ วันที่เรามีกันและกัน "เราโชคดีที่ได้เป็นพ่อแม่ และลูกโชคดีที่มีเราเป็นพ่อแม่” เพราะสิ่งเหล่านั้นคือกำลังใจสำคัญของการเติบโตของทั้งเราและลูก ที่สำคัญพ่อแม่อย่างเราต้องไม่ลืมที่จะใจดีกับตัวเองบ้าง เช่น ผลัดกันเลี้ยงลูก หรือ ขอให้คนในครอบครัวคนอื่นๆ ช่วยเราบ้าง เพื่อไปหาเวลาพัก มีเวลาส่วนตัวในการทำสิ่งที่ชอบและดูแลตัวเองบ้าง เพราะการเป็นพ่อแม่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเสียสละความสุขของตัวเองไป เราสามารถเป็นพ่อแม่ที่มีความสุขได้
สุดท้ายที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องแสดงความรักให้ลูกรู้ ลงทุนให้เวลาและความใกล้ชิดกับลูก ไม่ใช่แค่เพียงให้เงินหรือคำพูดเท่านั้น เพราะสำหรับลูกที่ยังเป็นเด็กเล็ก คำพูดที่พ่อแม่บอกรักเป็นนามธรรม เขาจับต้องไม่ได้ ดังนั้นเวลาคุณภาพที่มีให้และทำกับลูก จะทำให้เขารับรู้ว่าพ่อแม่รักเขาและลูกคือคนสำคัญสำหรับพ่อแม่จริงๆ เมื่อลูกรู้คุณค่าในตัวเอง เขาจะมีความคิด สติและการตัดสินใจที่ดีในชีวิต ไม่ก้าวผิดพลาดร้ายแรงจนซ่อมแซมชีวิตในอนาคตไม่ได้นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจตามใจนักจิตวิทยา https://www.facebook.com/followpsychologist