"ตด" เป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วตดแบบไหนกันล่ะ ที่บอกโรคได้
"ตด" หรือการ "ผายลม" ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วแบบไหน ที่บอกถึงความผิดปกติ ที่อาจก่อให้เกิดโรคได้ ไปหาคำตอบกัน
หากพูดถึงเรื่องของการ "ผายลม" หรือ "ตด" ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ทำไมต้อง"ตด"
"ตด" หรือภาษาที่สุภาพหน่อยเรียกว่า "ผายลม" คืออาการที่ลมระบายออกมาทางทวารหนัก เกิดจากแก๊สที่สะสมในระบบย่อยอาหาร เนื่องจากกระบวนการย่อยสลายอาหารไปเป็นพลังงานของร่างกาย
หากจะพูดถึงความมหัศจรรย์ของร่างกายเรานั้น มีอยู่ในทุก ๆ ที่ โดยมันสอดประสานกันอย่างเป็นระบบ ขนาดที่ "ลมตด" ยังสามารถบ่งบอกสุขภาพภายในของสำไส้ได้ด้วย ลองมาเช็กดูว่า "ตด" แบบไหนกันบ้าง
กลิ่นของตด
กลิ่นของตดเกิดจากแก๊สที่มีกลิ่นจากการหมักหมมของอาหารในลำไส้ ถึงแม้ว่าในตดมีแก๊สที่มีกลิ่นเพียง 1-2% เท่านั้น แต่มันก็เพียงพอที่จะสร้างกลิ่นที่สยองออกมาได้ ดังนั้น กลิ่นตดจะแรงไม่แรงนั้น จึงขึ้นอยู่กับอาหารที่เรากินเข้าไป โดยเฉพาะถ้าหากเรากินอาหารจำพวกโปรตีนสูง พวกเนื้อสัตว์ ไข่ หรือพืชตระกูลถั่ว และผักที่มีเส้นใยสูง และมีกลิ่นที่แรง เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ก็ทำให้เราตดเหม็นได้ แล้วตดของคุณมีกลิ่นแบบไหนลองมาเช็กดูกัน
- ตดไร้กลิ่น เกิดจากการได้รับโปรตีนน้อย
- ตดมีกลิ่น เกิดจากการทานอาหารที่มีโปรตีน และผักที่มีกลิ่นแรงมาก
- ตดมีกลิ่นแรงมากผิดปกติ อาจเกิดจากลำไส้มีการติดเชื้อแบคทีเรีย
ความถี่ของตด
โดยธรรมชาติคนเราจะตดเฉลี่ยวันละ 10-20 ครั้ง เพราะฉะนั้นถ้าตดมากกว่า หรือน้อยกว่านี้ แสดงว่าร่างกายของเรากำลังผิดปกติ ควรปรับการกินอาหารและไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการท้องอืด หรือปัญหาที่ตามมา งั้นมาลองเช็กระดับความถี่ กับตดของคุณกันดู
- ตดน้อย ตดน้อยกว่า 10 ครั้งต่อวัน เสี่ยงโรคลำไส้อุดตัน
- ตดปกติ ตด 10-20 ครั้งต่อวัน ถือว่าปกติ
- ตดมาก ตดมากกว่า 20 ครั้งต่อวัน เสี่ยงโรคทางเดินอาหาร
เสียงของตด
เสียงของตดเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อหูรูด และความดันในลำไส้ใหญ่ ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดไม่ค่อยกระชับ และความดันภายในลำไส้ใหญ่มีน้อย ตดก็จะเบา แต่ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดบีบตัวแน่น และแรงดันภายในลำไส้ใหญ่สูง (การเบ่ง) ตดก็จะมีเสียงที่ดังกังวาล
- ตดไร้เสียง เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดไม่กระชับ ทำให้บีบตัวได้น้อย แรงดันในลำไส้จึงมีไม่มาก
- ตดมีเสียง เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดบีบตัวมาก แรงดันในลำไส้จึงมีมาก ตดแบบนี้เป็นพวกดีแต่เสียง มักไม่ค่อยมีกลิ่น
มาถึงตรงนี้ เรื่องของ "ตด" ก็ดูจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ไปซะแล้ว แต่ไม่ต้องกังวลอะไรให้มากมาย เดี๋ยวจะเครียดแล้วตดหนักขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้ว คงแล้วแต่ระบบภายในของแต่ละคน เพราะอาหาร และพฤติกรรมที่เหมือนกัน อาจจะส่งผลที่ต่างกันได้ บางคนเกิดแก๊สมาก บางคนเกิดแก๊สน้อย ทางที่ดีที่สุด หากรู้สึกว่า "ตด" น่าจะผิดปกติ ก็ควรปรึกษาแพทย์ สุดท้ายแล้วจริง ๆ สรุป เรื่อง "ตด" เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็อย่าตดสุ่มสี่สุ่มห้า ก็แล้วกัน
ที่มา : ชีวจิต
Jones Salad