ไลฟ์สไตล์

อย่าปล่อยให้ “ซึมเศร้าหลังคลอด” จนทำร้ายลูกและตัวเอง

อย่าปล่อยให้ “ซึมเศร้าหลังคลอด” จนทำร้ายลูกและตัวเอง

01 ก.ย. 2564

“ซึมเศร้าหลังคลอด” ภาวะอันตรายที่ทำร้ายทั้งลูกและแม่ ดังนั้นรีบป้องกันและรู้ทันก่อนที่จะเกิดเหตุสลดตาย 2 ศพตามข่าว

จากข่าวสลดที่คุณแม่อุ้มลูกวัย 6-7 เดือนกระโดดคอนโดจนเสียชีวิตสองศพ ทั้งๆ ที่ญาติบอกว่าไม่เคยมีปัญหาเรื่องงานและทะเลาะกับสามีหรือคนในครอบครัว  อาจเกิดจากซึมเศร้าหลังคลอดนั้น หลายคนคงจะสงสัยว่าภาวะนี้เกิดจากอะไร ทำไมจึงเป็นกับคุณแม่หลังคลอดได้ ไปทำความรู้กับภาวะนี้และช่วยหาทางป้องกันดูแลไม่ให้เกิดกับคนใกล้ตัวเราจนเป็นเรื่องเศร้าอย่างนี้กันเถอะ

 

อย่าปล่อยให้ “ซึมเศร้าหลังคลอด” จนทำร้ายลูกและตัวเอง

 

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Maternity Blue) มีสาเหตุจากการเปลี่ยนของระดับฮอร์โมนอย่างรวดเร็วในช่วงหลังคลอด ส่งผลทำให้อารมณ์ของคุณแม่มีความเปลี่ยนแปลง รวมถึงปัจจัยสำคัญคือมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และปัจจัยอื่น ๆ เช่น มีความยากลำบากทางการเงิน ตกงาน เลิกรากับสามี หรือลูกคลอดออกมาแล้วไม่สมบูรณ์มีปัญหา ทำให้มีอาการซึมเศร้า เสียใจ หดหู่โดยไม่มีสาเหตุ ซึ่ง 1 ใน 6 ของคุณแม่หลังคลอด มักต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

โดยอารมณ์ของคุณแม่หลังคลอดที่มีความเปลี่ยนแปลง แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

1.กลุ่ม “ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด” มีอาการซึมเศร้า เสียใจ หดหู่ กังวล ร้องไห้ จะมีอาการอยู่ในช่วงสัปดาห์แรก สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา

  • เกิดจากการที่ยังปรับตัวหลังคลอดไม่ค่อยได้
  • กังวลเรื่องลูก

2. กลุ่ม “โรคซึมเศร้าหลังคลอด” มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อยไม่มีเหตุผล อ่อนไหวง่าย บางครั้งหงุดหงิด ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับลูก ความผูกพันกับลูกหายไป เหนื่อยท้อแท้ รู้สึกทุกข์ใจอย่างมาก  มีอารมณ์เศร้า หดหู่ สิ้นหวัง ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ได้ มีความรู้สึกเหนื่อยหน่าย หมดความสนใจในงานหรือกิจกรรมที่ทำ จนบางครั้งรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง ทำร้ายลูก ภาวะนี้มักเกิดขึ้นเกือบทั้งวัน หรือติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่สามารถหายเองได้

3. กลุ่ม “โรคจิตหลังคลอด” มักเกิดในช่วงหลังคลอด 1-2 วัน หรือหลังคลอด 3-4 วัน จะมีอาการฉุนเฉียว ร้องไห้ง่าย คึกคัก คล้ายไบโพลาร์ หูแว่ว ประสาทหลอน บางครั้งมีเสียงสั่งให้ฆ่าลูกหู  รวมถึงมีอาการหวาดกลัวมาก นอนไม่ได้ น้ำหนักลดลงมาก ต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาไม่สามารถหายเองได้ ทั้งยังมีความอันตรายต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อย

 

อย่าปล่อยให้ “ซึมเศร้าหลังคลอด” จนทำร้ายลูกและตัวเอง

 

 

รู้ทันและรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด  การป้องกันและรับมือกับอาการซึมเศร้าหลังคลอดทำได้ด้วยวิธีการดังนี้

  • ให้คุณพ่อ หรือคนใกล้ชิดช่วยดูแลลูก  หาเวลาหรือทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ
  • ระบายความรู้สึกให้คนใกล้ชิดฟัง เพื่อไม่ให้รู้สึกกดดัน หรือสะสมความเครียดไว้ในตัวเองมากเกินไป
  • หาเวลาพักการเลี้ยงลูกระหว่างวัน  มีเวลาให้กับตัวเองในการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ออกไปซื้อของช้อปปิ้ง หรือทำอย่างอื่น
  • ลดการรับข่าวสาร ไม่ดูสื่อหรือข้อมูลที่ทำให้รู้สึกหดหู่
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายเกิดการกระตุ้นร่างกายทำให้จิตใจผ่อนคลายได้
  • คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ หากรู้สึกวิตกกังวลหรือมีความเครียดมาก
  • ครอบครัวและสามีต้องหมั่นสังเกตและดูแล หากสังเกตว่าคุณแม่กำลังมีอารมณ์ซึมเศร้า การที่มีครอบครัวเป็นกำลังใจสำคัญจะทำให้คุณแม่หายจากอาการซึมเศร้าได้มากที่สุด แต่หากสังเกตว่าอาการคุณแม่เป็นมาก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินและหาวิธีการรักษาอย่างถูกต้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลศิครินทร์