“ยาลดกรด” ภัยเงียบหากกินพร่ำเพรื่อ ทำร่างกายเสียหายหลายระบบ
คนที่เป็น "โรคกระเพาะอาหาร" กรดไหลย้อน ท้องอืด อาจจะกิน "ยาลดกรด" จนชิน และคิดว่ากินได้ไม่มีปัญหา แต่ขึ้นชื่อว่ายาหากกินไม่ถูกต้องมีผลเสียต่อร่างกายได้แน่นอน
ยายับยั้งการหลั่งกรดหรือ ยาลดกรด ที่กล่าวถึงนี้หมายถึงยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารชนิด (PPIs) เป็นยาที่ใช้กันมากในปัจจุบันเพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น โอเมพราโซล (omeprazole), เอสโซเมพราโซล (esomeprazole), แลนโซพราโซล (lansoprazole), เด็กซ์แลนโซพราโซล (dexlansoprazole), แพนโทพราโซล (pantoprazole), ราเบพราโซล (rabeprazole)
ซึ่งประโยชน์ของ ยาลดกรดกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์แรงในการยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงนิยมนำมาใช้รักษาโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกรดในกระเพาะอาหาร เช่น รักษาโรคกรดไหลย้อน รักษาและควบคุมภาวะหลอดอาหารอักเสบมีแผล รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร รักษาโรคแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น รักษาและป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหารจากการใช้ยาบรรเทาอาการอักเสบในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) รักษาภาวะที่มีการหลั่งกรดมากเกินและอื่นๆ ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ยาเพื่อรักษาโรคหรือความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นมีแตกต่างกัน ควรใช้ตามระยะเวลาที่แนะนำไว้สำหรับแต่ละโรค เพราะการใช้เป็นเวลานานจะยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลเสียที่เกิดจากยาได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "กรดไหลย้อน"ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
- ป่วยโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง เสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร!!!
- โรคกระเพาะอาหาร...ปวดแน่นท้อง
กรดในกระเพาะอาหารเป็นสิ่งสำคัญต่อร่างกาย เพราะหากไม่มีกรดจะส่งผลเสียหายหลายอย่าง เนื่องด้วยความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารมีความจำเป็น ทั้งช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร ช่วยปลุกฤทธิ์เอนไซม์ย่อยโปรตีน ช่วยในการดูดซึมสารอาหารสำคัญ ทั้งวิตามินบี 12 เหล็ก แคลเซียม ซึ่งหากกรดภายในกระเพาะอาหารลดน้อยลงไม่ว่าจะสาเหตุใด รวมถึงการกินยาลดกรด (กลุ่ม PPIs) ซึ่งมีฤทธิ์แรงมากในการยับยั้งการหลั่งกรด จะส่งผลกระทบร่างกายได้
คนเรากินยาลดกรดกันพร่ำเพรื่อ
จากการศึกษาทางวิชาการพบว่า ป้จจุบันมีการใช้ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs) กันพร่ำเพรื่อถึงประมาณ 40-70% ซึ่งผลบกระทบไม่ใช่แค่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่ยังเสี่ยงทำให้ร่างกายเสียหายจากการใช้ยา รวมถึงการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้หลายชนิดซึ่งส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคอื่น และอาจมีผลข้างเคียงที่กระทบกับยาโรคประจำตัว หรือยาที่เรากินเพื่อรักษาโรคอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาเป็นเวลานาน
หยุดกินยาลดกรดบ่อยๆ และกินนานเกินไป
ไม่แนะนำให้ซื้อยามากินเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน หรือแม้แต่การกินยาลดกรดเป็นเวลานานเกินกว่าระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่แนะนำไว้สำหรับแต่ละโรค รวมถึงไม่กินยาลดกรดพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียได้หลายอย่าง นั่นคือ
- ลดการดูดซึมสารอาหาร
- ลดการดูดซึมเหล็ก
- ลดการดูดซึมวิตามินบี 12
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ
- เกิดภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำซึ่งจะรบกวนการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และระบบประสาท
- เพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกหัก (เกิดโรคกระดูกพรุน)
- เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม
- เกิดผลเสียต่อไต
- ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิดที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงยาจึงเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้หลายชนิด
ข้อมูลล่าสุดพบว่าขณะนี้ในหลายประเทศได้มีการทบทวนการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" ในข้อบ่งใช้ต่างๆ ตลอดจนมีข้อแนะนำถึงแนวทางในการพิจารณาปรับลดการใช้ยาในกลุ่มนี้ ทั้งการลดขนาดยา การลดระยะเวลาที่ใช้ยา การใช้ยาเป็นช่วงหรือการใช้ตามต้องการเมื่อจำเป็นและการหยุดใช้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย
ขอบคุณข้อมูลจาก ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล https://pharmacy.mahidol.ac.th ภาพจาก https://www.stevegranthealth.com/wp-content/uploads/digestive-system-3-stomach.jpg และ Unsplash