WHO เตือนรับมือโรค “สมองเสื่อม” เพิ่มขึ้นทั่วโลก
"องค์การอนามัยโลก" เผยแนวโน้มโรค "สมองเสื่อม"เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก เตือนหลายประเทศมีมาตรการเตรียมพร้อมทั้งการรักษา ค่าใช้จ่ายและการดูแล
เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีข้อมูลและคำเตือนให้หลายประเทศเตรียมตัวรับมือกับ "โรคสมองเสื่อม" ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10 ล้านคนในทุกปี ทำให้ประชากรกว่า 55 ล้านคน มีปัญหาในการดำรงชีวิต โดย WHO ได้มีรายงานการวิเคราะห์ที่ได้ทำในระดับโลกออกมาเมื่อปีค.ศ. 2017 ที่บอกว่าจากข้อมูลทั่วโลกนั้นมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่มีมาตรการที่ใช้เพื่อการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนี้ และมีประมาณ 25% ที่มีแผนระดับชาติในการส่งเสริมสนับสนุนด้านการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและครอบครัว
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่า ยังมีอีกหลายประเทศมากที่ยังไม่ได้เตรียมพร้อมหรือรับมือกับปัญหาสาธารณสุขในเรื่องโรคสมองเสื่อมนี้ ซึ่งปัญหานี้เริ่มเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ เพราะกำลังส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวน 55 ล้านคนทั่วโลก และผู้ป่วยที่เป็นสมองเสื่อมอยู่ในขณะนี้จำนวนกว่า 60 เปอร์เซ็นต์มักอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทางออก“สมองเสื่อม...ในผู้สูงวัย"
- กรมสุขภาพจิต เผยผู้สูงวัย"สมองเสื่อม" 8 แสนกว่าคน
- เปิด 10 อาหาร "บำรุงสมอง" เสริมความจำ-ป้องกันโรคสมองเสื่อม
แผนกสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดของ WHO ระบุว่า ประเทศจำนวนมากไม่มีนโยบายเบื้องต้นในการรับมือและเตรียมพร้อมกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นในหลายประเทศจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างระบบสาธารณสุขรวมถึงการให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้มั่นใจว่าผู้คนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคสมองเสื่อมได้ รวมถึงคนในครอบครัวเองก็จะสามารถดูและและเข้าใจผู้ป่วยได้มากขึ้น ที่สำคัญคือการลดช่องว่างระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ต่ำถึงปานกลาง และช่องว่างระหว่างพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่ชนบท เพราะจะทำให้ผู้คนที่เปราะบางเข้าถึงการดูแลรักษาได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ WHO ยังเผยตัวเลขคาดการณ์ไว้ว่า ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 78 ล้านคนภายในปี 2030 และยิ่งสูงขึ้นถึง 139 ล้านคนในปี 2050 องค์การอนามัยโลกยังประมาณการด้วยว่า ค่าใช้จ่ายต่อโรคสมองเสื่อมทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้นจากก 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน เป็น 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปีค.ศ. 2030 โดยภาวะสมองเสื่อมนี้ มีผลกระทบทั้งต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของค่ารักษาพยาบาลและการดูแลทางสังคม ซึ่งในปี 2019 ได้เผยค่าใช้จ่ายในการดูแลทางสังคมโดยรวมของทั่วโลกอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายเหล่านี้คาดว่าจะเกิน 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 เนื่องจากคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งจากบริการสุขภาพในชุมชน ระบบการพักฟื้น ระบบการดูแลในระยะยาว และการดูแลเพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
โรคสมองเสื่อมมักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้สูงวัยจะป่วยจนเป็นเรื่องปกติ แต่มีสาเหตุเกิดจากโรคและการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเมื่อป่วยแล้วจะส่งผลกระทบต่อความจำและการใช้ความคิดของสมอง ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบากมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแม้โรคสมองเสื่อมจะไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่การรับมือเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การได้รับโภชนาการหรืออาหารที่ดีและมีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นควบคุมและป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคซึมเศร้า ก็อาจมีส่วนช่วยลดการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้มากถึง 40%
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.who.int, https://www.voathai.com, https://www.premiumtimesng.com,ภาพจาก Unsplash