ไลฟ์สไตล์

อย่าลืม “วัคซีน” ในวัยรุ่น เพราะโรคติดเชื้ออันตราย ทำร้ายได้ทุกคน

อย่าลืม “วัคซีน” ในวัยรุ่น เพราะโรคติดเชื้ออันตราย ทำร้ายได้ทุกคน

06 ก.ย. 2564

หลายบ้านเคร่งครัดเรื่อง "วัคซีน" กันเฉพาะในเด็กเล็ก ทั้งที่ความจริงแล้ว"วัยรุ่น"ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อโรครุนแรงจนเสียชีวิตได้ อย่าคิดว่าเขาร่างกายแข็งแรง!

     การฉีดวัคซีน นั้นหลายคนให้ความสำคัญเฉพาะกับเด็กเล็ก แต่ความจริงแล้ว"วัยรุ่น"ก็มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคร้ายหลายชนิด จนทำให้มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ไม่ต่างจากวัยอื่นๆ รวมทั้งหากไม่ป้องกันด้วยวัคซีน อาจทำให้โรคมีการระบาดตามมา จึงขอแนะนำวัคซีนสำคัญสำหรับวัยรุ่น นั่นคือ

 

วัคซีนเอชพีวี (Human Papillomavirus Vaccine) ผู้ชายก็ฉีดได้

     เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ แนะนำให้ฉีดในวัยรุ่นอายุ 9-26 ปี ทั้งหญิงและชาย ซึ่งขณะนี้ในบ้านเรามีวัคซีนให้เลือกใช้ 2 ชนิด คือ ชนิด 2 สายพันธุ์ (ป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16, 18) ใช้ได้เฉพาะในผู้หญิง และชนิด 4 สายพันธุ์ (ป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16, 18 ป้องกันหูดหงอนไก่ที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ 6, 11) ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย  ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เข็มที่ 1 ฉีดทันที, เข็มที่ 2 ฉีดหลังจากเข็มแรก 1-2 เดือนและเข็มที่ 3 ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน

     แนะนำให้ฉีดในช่วงอายุ 11-12 ปี ที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันได้สูงสุด ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของกระทรวงสาธารณสุขจะให้ฉีดในเด็กผู้หญิงชั้นป.5 โดยหากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี สามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน

อย่าลืม “วัคซีน” ในวัยรุ่น เพราะโรคติดเชื้ออันตราย ทำร้ายได้ทุกคน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

วัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Tdap) หรือโรคคอตีบ-บาดทะยัก (Td) เคยฉีดตอนเด็ก ก็ฉีดได้อีก

     วัคซีนชนิดนี้ส่วนใหญ่เด็กๆ จะได้รับตั้งแต่อายุ 2 เดือนจนถึง 6 ปี มาแล้ว 5 เข็ม ในวัยรุ่นพบว่ามีอัตราการเกิดโรคไอกรนสูงขึ้น ซึ่งอาจมาจากภูมิคุ้มกันที่ลดลงเพราะฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังเด็ก ดังนั้นการให้วัคซีนไอกรนในวัยรุ่นจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคเพียงพอ และยังช่วยลดการแพร่เชื้อสู่เด็กเล็กซึ่งเมื่อป่วยเป็นโรคจะมีอัตราตายสูง โดยต้องมีการกระตุ้นซ้ำเมื่ออายุ 11-12 ปี โดยให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ชนิดสูตรสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ (Tdap) ในวัยรุ่น 1 ครั้งแทนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (Td) หลังจากนั้นควรจะได้รับการฉีดวัคซีน Td กระตุ้นทุก 10 ปี

 

 

อย่าลืม “วัคซีน” ในวัยรุ่น เพราะโรคติดเชื้ออันตราย ทำร้ายได้ทุกคน

 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ฉีดทุกปีดีกว่า

     เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ง่าย ซึ่งบางรายต้องเข้ารับการรักษาในรพ.และจะมีอาการรุนแรง ดังนั้นการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนจึงมีความสำคัญ โดยปัจจุบันวัคซีนมีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์โดยในเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไปสามารถเลือกฉีดได้ปีละ 1 ครั้งเพราะแต่ละปีสายพันธุ์จะเปลี่ยนไป วัคซีนนี้ฉีดได้ตลอดทั้งปี แต่แนะนำให้ฉีดในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเนื่องจากพบการระบาดได้มากกว่า

 

 

วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Vaccine) ถ้าเคยเป็นแล้วต้องฉีดหรือไม่?

     โรคอีสุกอีใสสามารถติดต่อและแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว และยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม จนถึงกับเสียชีวิตได้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมักมีอาการรุนแรงในวัยรุ่น โดยเฉพาะถ้าเป็นในระหว่างตั้งครรภ์ก็จะมีโอกาสทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้ ซึ่งป้องกันได้โดยการให้วัคซีน 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน หลังจากเข็มแรกสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี และห่างกันอย่างน้อย 1 เดือนหลังจากเข็มแรกสำหรับผู้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่เคยเป็นโรคนี้แล้วไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นอีกเพราะจะมีภูมิคุ้มกันโรคได้ตลอดชีวิต

 

วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) ป้องกันอันตรายในหญิงตั้งครรภ์ วัยเจริญพันธุ์

โรคนี้สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ง่าย แถมยังพบการระบาดของโรคหัดมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ละเลยไม่รับวัคซีน ในขณะที่วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หากวัยรุ่นหญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อหัดเยอรมัน ลูกอาจมีความพิการแต่กำเนิด ได้ เช่น หูหนวก ต้อกระจก หัวใจพิการ และความผิดปกติของระบบประสาทและ ในวัยรุ่นที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ควรได้รับการฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่หากเคยได้รับมาแล้ว 1 เข็มควรฉีดเพิ่มอีก 1 เข็ม

ข้อมูลจาก https://www.pidst.net สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ภาพจาก Unsplash