ไลฟ์สไตล์

“อีหล่า มาร์เก็ต” โชห่วยอีสาน สู้ร้านทุนใหญ่ รายได้สู่ชุมชน

“อีหล่า มาร์เก็ต” โชห่วยอีสาน สู้ร้านทุนใหญ่ รายได้สู่ชุมชน

08 ก.ย. 2564

ชวนรู้จัก “อีหล่า มาร์เก็ต” โชห่วยแดน "อีสาน" สุดเก๋ไก๋ กับแนวคิดซื้อมา-ขายไป สร้างรายได้หมุนเวียนเอาชนะใจชุมชน

     แรกเห็นก็สะดุดใจกับ โชห่วยสวยเก๋แดนอีสาน ตําบลหนองนาคํา อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นโปร่งสบาย มีของแยกขายคล้ายซูเปอร์มาร์เก็ตน่าเข้าไปช้อป เพราะจัดเรียงและวางสินค้าตามหมวดหมู่ให้เลือกแสนง่าย ที่สำคัญคือมีผักผลไม้และของใช้จากชุมชน เรียกว่ามีทั้งสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันทุกอย่าง รวมถึงของจากพื้นที่ ทำให้รายได้หมุนเวียนกันในท้องถิ่น

 

     “อีหล่า มาร์เก็ต”  ชื่อนี้แปลว่าลูกสาวคนเล็ก โดยที่มาของชื่อร้านคือต้องการให้ร้านนี้เป็นเหมือนลูกสาวคนเล็กของหมู่บ้าน ให้ทุกคนรู้สึกเอ็นดูเป็นจุดที่ชักชวนทุกคนมาจับจ่ายใช้สอยและนำสินค้ามาขาย  โดยมีหัวเรือใหญ่จากความคิดของหนุ่มน้อย  พีเจี้ยน-รักอิสระ มุกดาม่วง เด็กหนุ่มที่เรียนบิสสิเนสอิงลิชและรักการถ่ายภาพ แต่สามารถต่อยอดและปรับปรุงร้านขายของชำห้องแถวธรรมดาของคุณยายให้กลายเป็นร้านโชห่วยสวยทันสมัย เดินช้อปสบาย หาซื้อของง่ายและมีความสุข ที่สำคัญคือการรับสินค้าจากชุมชนมาขายต่อเนื่อง

 

 

“อีหล่า มาร์เก็ต” โชห่วยอีสาน สู้ร้านทุนใหญ่ รายได้สู่ชุมชน

 

 

     ที่มาที่ไปของ “อีหล่า มาร์เก็ต”  เกิดจากแต่เดิมคุณยายมีร้านขายของชำบ้านๆ เป็นห้องแถว 2 คูหาเก่าแก่  ซึ่งในช่วงที่คุณพีเจี้ยนเรียนจบใหม่ๆ ครอบครัวก็มาปรึกษาว่าอยากปรับปรุงร้าน ด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ อยากทำให้เป็นเอกลักษณ์ จึงได้เสนอแนวคิดในการทำร้านให้ดูดีเก๋ไก๋ แต่ก็ต้องกลมกลืนไปกับชุมชน รวมถึงการออกแบบดีไซน์ร้านและตกแต่ง เรียกว่าจากความรักการถ่ายรูป มีมุมมองศิลปะและการดีไซน์ จึงนำเสนอการออกแบบร้านให้แปลกใหม่ไปจากเดิม ชนิดที่ไม่เหลือเค้าโชห่วยที่เราเคยรู้จักกัน  ส่วนชื่อร้านด้วยความที่อยู่ในท้องถิ่นแดนอีสาน ให้ชาวบ้านรู้สึกเอ็นดู จึงกลายมาเป็นชื่อที่ทุกคนในท้องถิ่นเข้าใจนั่นคือ “อีหล่า” หรือลูกสาวคนเล็กของชุมชน นอกจากความหมายดีแล้ว ยังมีความคล้องจองกับคำว่า มาร์เก็ตอีกด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

จากหนุ่มช่างฝันรักการถ่ายภาพ สู่เจ้าของร้านโชห่วย ที่ชาวบ้านเข้าถึงในมาตรฐานสากล

     คุณพีเจี้ยนในฐานะลูกชายคนโตของที่บ้านและยังเป็นคนหนุ่มไฟแรง ที่หลังเรียนจบก็คิดที่จะทำงานบริษัทหรือภาครัฐ และมีฝันคือการเป็นช่างภาพ เพราะมีฝีมือในการถ่ายรูปจนสามารถรับงานสร้างรายได้ให้ตัวเอง แต่เมื่อครอบครัวให้ช่วยปรับปรุงกิจการ จึงวางกล้องที่สะพายไว้มาใส่ผ้ากันเปื้อน ตั้งใจทำร้านให้ออกมาดีมีคุณภาพ ซึ่งหลายครั้งก็ยังคิดว่าจะเวิร์คหรือไม่ และหากทำไปร้านเกิดเจ๊งขึ้นมา ก็ยังมีความคิดว่าอาจจะต้องให้คุณแม่กับคุณยายบริหารแบบเดิมๆ ที่เคยทำกันต่อไป แต่ก็ไม่น่าเชื่อกลับได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชุมชนมาจนทุกวันนี้

 

“อีหล่า มาร์เก็ต” โชห่วยอีสาน สู้ร้านทุนใหญ่ รายได้สู่ชุมชน

 

อุปสรรคทางความคิด และโจทย์ใหญ่ที่ให้ฝ่าฟัน   

     ก่อนการปรับปรุงร้านจะมีอุปสรรคทางด้านความคิดที่ขัดแย้งกันอยู่บ้าง เพราะความที่คุณพีเจี้ยนเป็นคนรุ่นใหม่จึงอยากคิดนอกกรอบ ทำร้านให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จึงมีผู้ใหญ่สกัดไว้บ้าง แต่ด้วยเหตุผลต่างๆ และความเชื่อมั่น ก็ทำให้ร้านออกมาในรูปลักษณ์ที่ดูดีสวยงาม เรียกความสนใจจากคนในชุมชนและคนที่ผ่านไปมาได้อย่างดี   อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่คือความคิดของชาวบ้าน เพราะช่วงที่ทำร้านแรกๆ ก็กังวลว่าร้านดูดีขนาดนี้ ชาวบ้านเขาจะกล้ามาซื้อของหรือไม่ เขาจะกลัวของแพงหรือเปล่า  แต่ด้วยความที่เรามีทั้งของสด ของกิน ของใช้ที่รับซื้อกันในชุมชน เราไม่ได้ขายของแพง ราคาปกติที่เขาเคยซื้อกัน จึงทำให้ชาวบ้านมั่นใจเชื่อใจและมาซื้อของ

 

“อีหล่า มาร์เก็ต” โชห่วยอีสาน สู้ร้านทุนใหญ่ รายได้สู่ชุมชน

 

 

“อีหล่า มาร์เก็ต” โชห่วยอีสาน สู้ร้านทุนใหญ่ รายได้สู่ชุมชน

 

จุดเด่นที่ต่างจากร้านสะดวกซื้อ คืออาหารสดใหม่ และสินค้าในชุมชน

     ข้อดีของ ร้านอีหล่า มาร์เก็ต คือ หากเปรียบเทียบกับโชห่วยแต่เดิม ร้านนี้จะมีการบริหารจัดวางที่แตกต่าง คือทำให้เป็นหมวดหมู่ การจัดวางที่เป็นระเบียบ สะอาด แยกกลุ่มสินค้าให้คนซื้อได้สะดวก จัดสินค้าได้ง่าย คนซื้อก็เห็นง่าย มีแคชเชียร์เก็บเงินเป็นระบบระเบียบ  ที่สำคัญคือเน้นเป็นของสด พืชผักสดๆ ที่รับซื้อจากชาวบ้านในชุมชนแล้วนำมาขาย หมุนเวียนสลับกันไป ให้ความสำคัญกับการขายสินค้าแบบ Local ที่กินใช้กันได้ง่ายในราคาประยัด  เน้นวัตถุดิบที่ให้ชาวบ้านสามารถซื้อของไปทำกับข้าวกินได้สะดวก ในราคาย่อมเยา ไม่ได้เน้นสินค้าสำเร็จรูปที่นำไปเวฟ อุ่น หรืออื่นๆ

 

“อีหล่า มาร์เก็ต” โชห่วยอีสาน สู้ร้านทุนใหญ่ รายได้สู่ชุมชน

 

ซื้อมาขายไป แลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน

    ข้อดีที่สำคัญของการบริหารร้าน ที่ทำให้ชาวบ้านได้สินค้าราคาถูก และเราได้อุดหนุนผลผลิตเกษตรกรชาวบ้าน คือการให้ชาวบ้านหรือลูกค้านำผักหรือสินค้าของเขามาขายในร้านได้เกิดการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนกัน  เช่น ในช่วงเช้าชาวบ้านจะนำผักมาขาย เย็นเขาก็มาซื้อน้ำปลาที่ร้านไปทำกับข้าว ทั้งนี้ร้านก็ไม่ได้สั่งสินค้ากับชาวบ้านหรือตั้งกฎว่าจะต้องเอาอะไรมาขาย แต่ให้ชาวบ้านนำของหรือผลิตที่ตอนนี้มีมาขายได้ตามใจ  วันนี้เขาอยากจะขายผักบุ้งอีกวันเป็นมะเขือก็ทำได้ เพราะร้านจะรับซื้อตลอดเวลา ดยไม่ได้ผูกขาดว่าจะเป็นเจ้าไหนหรือของใครคนใดคนหนึ่ง  ถือเป็นการหมุนเวียนเงินและเศรษฐกิจในชุมชน ให้ชาวบ้านมีรายได้ด้วยกัน

 

 

“อีหล่า มาร์เก็ต” โชห่วยอีสาน สู้ร้านทุนใหญ่ รายได้สู่ชุมชน

 

 

อีหล่า มาร์เก็ต ลูกสาวคนเล็กที่เอาชนะใจชุมชน

     บทเรียนของการทำธุรกิจค้าขาย ที่ทำให้ อีหล่า มาร์เก็ต เป็นที่ยอมรับและเอ็นดู โดยเฉพาะในชุมชนคือการทำความเข้าใจ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ขายในราคามิตรภาพ รวมถึงศึกษาพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนในชุมชน รวมถึงเรียนรู้โปรไฟล์และภูมิหลัง การใช้ชีวิตประจำวันของเขา ด้วยการรู้จักว่าลุงป้าน้าอาเขาอยู่กันอย่างไร ชอบทำอะไรกิน  เพื่อมาปรับปรุงร้านค้าของให้เหมาะสมกับคนรอบตัวให้มากที่สุด นอกจากนี้ต้องไม่ลืมที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ให้ชาวบ้านและชุมชนเข้าถึงได้ ปรับปรุงร้านและการซื้อขายให้ตรงกับความต้องการใช้ของลูกค้าจริง

 

 

“อีหล่า มาร์เก็ต” โชห่วยอีสาน สู้ร้านทุนใหญ่ รายได้สู่ชุมชน

 

 

อีหล่า มาร์เก็ต ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 557 หมู่ 17 บ้านหนองใส ตําบลหนองนาคํา อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

FB อีหล่า มาร์เก็ต