เผยวิธีดูแลผู้สูงวัยที่เป็น “อัลไซเมอร์” ด้วยการสื่อสารอย่างเข้าใจ
เผยวิธี"ดูแลผู้สูงวัย"ที่เป็น"อัลไซเมอร์" ด้วยการพูดคุยสื่อสารอย่างเข้าใจ รับฟังความรู้สึก ให้ผู้ป่วยอาการไม่กำเริบง่ายและครอบครัวผู้ดูแลก็อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข
ในโอกาสเดือนอัลไซเมอร์โลก คือกันยายนของทุกปี กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา จึงให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ด้วยการเน้นสิ่งสำคัญคือการสื่อสารและทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรม ความรู้สึก และความต้องการของผู้ป่วยให้ดี เนื่องจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีอาการภาวะสมองเสื่อมบกพร่องในด้านการเรียนรู้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เริ่มมีปัญหาด้านความจำเป็นอันดับแรก ซึ่งจะสัมพันธ์กับการสื่อสารโดยลืมว่าพูดอะไรไปก่อนหน้านี้ อาการอื่นๆ ผู้ป่วยจะเริ่มพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ มีปัญหาในการนึกคำลำบาก ใช้คำพูดอธิบายสิ่งของนั้นๆ แทนการเรียกชื่อ พูดสื่อสารน้อยลง
ในผู้ป่วยบางรายเริ่มมีปัญหาด้านอารมณ์ร่วมด้วย ซึ่งด้วยสาเหตุและอาการเหล่านี้จึงทำให้การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคความจำเสื่อมเป็นไปได้ยาก หากผู้ดูแลและครอบครัวขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งหากมีการสื่อสารกับผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้ทั้งครอบครัวและผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยมีความสุขได้ทั้งคู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้สูงอายุระวัง 3 จุดเสี่ยง “ไวรัสโควิด19” เน้นป้องกันและฆ่าเชื้อเคร่งครัด
- ฝนตกระวัง“ผู้สูงอายุลื่นล้ม”อันตรายถึงชีวิต เตือนลูกหลานจัดบ้านให้ดี
- เช็กสัญญาณ “สมองเสื่อม” หากมีอาการแบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์
- WHO เตือนรับมือโรค “สมองเสื่อม” เพิ่มขึ้นทั่วโลก
- ให้สัตว์เลี้ยง “บำบัด” ขจัดทุกข์ เยียวยาสมองเสื่อม มะเร็งและซึมเศร้าได้
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการผู้ป่วยอัลไซเมอร์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
- ระยะแรก-ผู้ป่วยสามารถสื่อสารเข้าสังคมได้ แต่พูดซ้ำๆเดิมๆนึกคำพูดลำบาก
- ระยะกลาง-พูดสื่อสารลำบากมากขึ้น เริ่มกระทบกับชีวิตประจำวัน
- ระยะท้าย-ผู้ป่วยดูแลตัวเองไม่ได้ ต้องมีญาติหรือผู้ดูแลคอยดูแลตลอด
ซึ่งในการกระตุ้นการสื่อสารจึงมีความสำคัญกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลในครอบครัว สื่อสารกันอย่างเข้าใจ มีการฝึกเพื่อป้องกันการสับสนเรื่อง วัน-เวลา-สถานที่ บุคคล แล้วยังมีส่วนช่วยเรื่องการจัดการด้านสุขภาพ เช่น การจัดยา การจัดมื้ออาหาร รวมถึงธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น
ผู้ดูแลควรมีความพร้อม โดยเป็นทั้ง
- ผู้พูดและผู้ฟังที่ดี เข้าหาผู้ป่วยอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง
- รับฟังด้วยความเข้าใจ
- มีท่าทีเอาใจใส่ ให้ความสนใจเพื่อให้ผู้ป่วยไว้วางใจ
- คอยสังเกตปฏิกิริยาของผู้ป่วย ไม่ควรมีทีท่ารีบร้อน หรือทำตัวแปลกแยกเหมือนว่าผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในที่สนทนานั้น ๆ
- ให้ความใส่ใจในทุกเรื่อง เพราะผู้ป่วยเป็นคนที่เรารัก มีความคิดและความรู้สึกไม่ต่างกับบุคคลทั่วไป
การสื่อสาร มีหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีอาจจะได้ผลที่แตกต่างกัน คือใช้ได้กับผู้ป่วยท่านหนึ่งแต่อาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยอีกท่านหนึ่ง ตัวอย่างการสื่อสารเช่น
- สร้างความคุ้นเคยโดยการเรียกชื่อผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสนใจและแนะนำตัวเองว่าเราคือใคร
- จ้องตาผู้ป่วยขณะพูดโดยใช้น้ำเสียงนุ่มนวลด้วยคำพูดสั้นๆและช้าๆเข้าใจง่าย เรื่องที่พูดคุยควรเน้นเป็นเรื่องๆไป และไม่ควรเปลี่ยนเรื่องอย่างรวดเร็ว
- ผู้ดูแลอาจชวนคุยด้วยการใช้รูปภาพ หรือสัญลักษณ์ เช่น รูปคนในครอบครัว พยายามให้เวลารอคอยให้ผู้ป่วยตอบ
- หากผู้ป่วยพูดแล้วเราไม่เข้าใจให้พยายามพูดทวนอีกครั้ง
ซึ่งการพูดคุยด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง ผ่อนคลาย และมีการสร้างอารมณ์ขันชวนให้ผู้ป่วยความจำเสื่อมได้หัวเราะ จะช่วยลดความตึงเครียดและการวิตกกังวลในการสื่อสารร่วมกับผู้อื่นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaihealth.or.th/