เฝ้าระวัง "ไวรัสนิปาห์” โรคติดเชื้อร้ายกว่าโควิด ทำเด็กอินเดียเสียชีวิต
จากข่าว"ไวรัสนิปาห์"กลับมาระบาดในอินเดีย ทำเด็กชายวัย 12 ปีเสียชีวิต ทั่วโลกจึงตื่นตัวและเฝ้าระวัง เราจึงมาแนะนำความรุนแรงและอันตรายของโรคนี้ให้รู้จักกันไว้
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตา และผวากับการแพร่ระบาดของ "ไวรัสนิปาห์" ในประเทศอินเดียที่ทำให้เด็กชายวัย 12 ปี ในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดียเสียชีวิต เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่อที่มีความร้ายแรงมากกว่า "โควิด -19" และความรุนแรงคือทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตถึง 70% แถมยังไม่มีวัคซีน และไม่มียารักษาโดยเฉพาะอีกด้วย
ไวรัสนิปาห์ (Nipah) เกิดจากอะไร
โรคนี้เกิดจากไวรัสที่ก่อโรคในสัตว์ โดยไวรัสนิปาห์จะทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคนี้พบครั้งแรกตั้งแต่ปี 2541-2542 ในประเทศมาเลเซีย จากนั้นในปี 2544 ก็มีการระบาดหลายครั้งในอินเดียและบังคลาเทศ โดยเริ่มแรกมาจากการติดต่อจากสัตว์สู่คน จนภายหลังมีการติดต่อได้จากคนสู่คนกันเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "บ้านหมุน" อาการที่ไม่ควรมองข้าม อาจนำไปสู่โรคร้าย
- สังเกตด่วน 4 "โรคผู้หญิง" ไม่ใช่มะเร็งแต่อันตราย
- เผยวิธีดูแลผู้สูงวัยที่เป็น “อัลไซเมอร์” ด้วยการสื่อสารอย่างเข้าใจ
- เช็กสัญญาณ “สมองเสื่อม” หากมีอาการแบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์
- WHO เตือนรับมือโรค “สมองเสื่อม” เพิ่มขึ้นทั่วโลก
สถานการณ์ในประเทศไทย แม้จะยังไม่เคยพบผู้ป่วยในประเทศไทย แต่จากการศึกษาของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และคณะ ในปี พ.ศ. 2546 จากการสำรวจค้างคาวในบางจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยพบว่า ค้างคาวแม่ไก่ ร้อยละ 7 มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนิปาห์ และพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสนิปาห์ในนํ้าลายและปัสสาวะของค้างคาวแม่ไก่ด้วย ดังนั้นพื้นที่เสี่ยงทางภาคใต้ จึงควรเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและป้องกันไม่ให้โรคแพร่มายังสัตว์เลี้ยงตามมาตรการของกรมปศุสัตว์
อาการของโรค ในระยะแรกจะคล้ายอาการของไข้หวัด คือมีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ วิงเวียน ซึม สับสน และปอดบวมหรือปอดอักเสบผิดปกติ มีอาการสมองอักเสบ โดยอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงขั้นโคม่า และเสียชีวิต
ไวรัสนิปาห์ ถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายเพราะในปัจจุบันยังไม่มียารักษาไวรัสนิปาห์ได้โดยเฉพาะ และยังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคนี้ด้วย การรักษาจึงทำได้เพียงรักษาตามอาการแสดงของผู้ป่วยร่วมกับการให้ยาต้านไวรัสบางตัวเช่น ไรบาวิริน (Ribavirin) ซึ่งพอจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
การแพร่เชื้อ สามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น หมู หรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ติดเชื้อ ติดเชื้อจากการรับประทานผลไม้ที่ปนเปื้อนน้ำลายและปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้ และติดต่อจากคนสู่คนได้ หลังจากมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด โดยมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 4 - 18 วัน
วิธีป้องกันการติดเชื้อ ทำได้โดยปฏิบัติตัวดังนี้
- ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์ เนื้อสัตว์ หรือซากสัตว์ทุกชนิด
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่ เสมอ
- ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่กับพื้น โดยเฉพาะผลไม้ที่มีร่องรอยการกัดแทะ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่ไม่สะอาด หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะปนเปื้อนน้ำลายหรือปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้
- ชำระล้างเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน ไอโอดีน เป็นต้น
- ห้ามรับประทานเนื้อค้างคาวโดยเด็ดขาด
มาตรการป้องกันโรคภาครัฐ มีคำแนะนำคือป้องกันสัตว์ไม่ให้สัมผัสกับมูลและปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้ และสัตว์ที่ติดเชื้ออย่างเช่น หมูและม้า รวมถึงตรวจสอบให้แน่ใจว่าค้างคาวกินผลไม้ไม่ได้พักอาศัยอยู่ใกล้กับคอกหมูหรือคอกสัตว์ นอกจากนี้ผู้ทำงานปศุสัตว์ ต้องสวมชุดป้องกัน รองเท้าบู๊ทหมวก ถุงมือ แว่นตา กระจังบังหน้า ล้างตัวและมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนออกจากฟาร์ม ต้องเผาทำลายซากม้าและหมูที่ติดเชื้อ โดยการควบคุมดูแลของหน่วยงานรัฐ คือ ห้ามขนย้ายสัตว์ออกจากบริเวณที่มีการระบาดของโรค และแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หากปรากฏการแพร่เชื้อจากคนสู่คน
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย https://www.pidst.or.th, https://www.bth.co.th