"นักกำหนดอาหาร" หนึ่งอาชีพเพื่อสุขภาพ บำบัดอาการป่วย
รู้จัก "นักกำหนดอาหาร" หนึ่งอาชีพสำคัญเพื่อ"สุขภาพ"ของคนไข้ เพราะเป็นผู้ช่วยคุณหมอในการบำบัดอาการป่วยด้วยอาหาร
อยากรู้ไหมว่า?... "นักกำหนดอาหาร" ต่างจาก "นักโภชนาการ" อย่างไร และเขาเหล่านั้นจะช่วยอะไรเราได้บ้าง
คนส่วนใหญ่มักได้ยินหรือรู้จักแต่นักโภชนาการ และไม่รู้ว่านักกำหนดอาหาร คือใคร มีหน้าที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง เราจึงชวนมาดูกันว่านักโภชนาการและนักกำหนดอาหารมีความต่างกันอย่างไร
นักโภชนาการ (Nutritionist)
นักโภชนาการ หรือ โภชนากร ที่เราส่วนใหญ่รู้จักนั้นเป็นอาชีพสำคัญที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพ เพราะนักโภชนาการคือผู้ที่สนใจด้านอาหารและจบหลักสูตรโภชนาการ เป็นคนที่จะคอยดูแลเรื่องอาหารการกินเพื่อส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคให้กับคนทั่วไป (Health Promotion and Disease Prevention) รวมถึงการดูแลอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนในบางโรงเรียน ถือได้ว่านักโภชนาการเป็นผู้ที่คอยแนะนำดูแลด้านอาหารเพื่อคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายของคนเราทั่วไป ซึ่งในบางครั้งก็จะมีนักโภชนาการที่ให้คำแนะนำในการกินอาหารของผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 12 กลยุทธ์จัดอาหารให้ผู้สูงอายุ สุขภาพดี
- “เท้าแบน” อยู่หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่าปล่อยไว้ รีบแก้ไขและรักษาตัว
- รู้จัก เจตมูลเพลิงแดง ต้านเนื้องอกลดเสี่ยง “มะเร็ง”
- คมชัดกับหมอ EP.6 | "หนีให้ห่าง โรคอัลไซเมอร์”
- เฝ้าระวัง "ไวรัสนิปาห์” โรคติดเชื้อร้ายกว่าโควิด ทำเด็กอินเดียเสียชีวิต
นักกำหนดอาหาร (Dietitian)
นักกำหนดอาหารถือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่จบหลักสูตรด้านโภชนาการและการกำหนดอาหาร ซึ่งจะมีความรู้ที่เน้นทางด้านการกำหนดอาหาร โดยเฉพาะอาหารบำบัดโรคที่เรียกว่า โภชนบำบัด นักกำหนดอาหารจะต้องมีประสบการณ์ เคยปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ประเมินสภาวะโภชนาการของคนป่วย เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการวางแผนเรื่องอาหารของคนไข้ โดยจะกำหนดทั้งพลังงาน ปริมาณ และสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมต่อร่างกายผู้ป่วย รวมทั้งสามารถดัดแปลงสูตรอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะโรคภัยของผู้ป่วยคนนั้นๆ ด้วย
นักกำหนดอาหารเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำหน้าที่ร่วมกับทีมแพทย์ในการรักษา บำบัดและป้องกันโรค รวมถึงเป็นผู้ที่ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ป่วย เพื่อช่วยให้การดูแลรักษาอาการป่วยของคนไข้นั้นมีประสิทธิภาพ ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วและมีสุขภาพที่ดีขึ้น
การทำงานของนักกำหนดอาหาร จะต้องมีการประเมินสภาวะโภชนาการของคนไข้ ซักประวัติ สอบถามนิสัยการกิน ไลฟ์สไตล์ ประวัติครอบครัว โรคทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพฤติกรรมการกินและอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรค จากนั้นจึงกำหนดอาหารให้เหมาะสมกับโรคและสุขภาพของคนไข้แต่ละคน รวมถึงคอยติดตามอาการของคนไข้เพื่อดูผลอีกด้วย
หนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องผ่านมาตรฐานวิชาชีพ
ใครสนใจอยากเป็นนักกำหนดอาหาร ปัจจุบันมีหลักสูตรระดับปริญญาตรีเฉพาะทางด้านนี้หลายมหาวิทยาลัยแล้ว และนักกำหนดอาหารจะต้องสอบมาตรฐานและผ่านการขึ้นทะเบียนวิชาชีพด้วย
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก นิตยสารชีวจิตhttps://www.aipt.edu.au,https://www.dreamstime.com,https://www.julienutrition.com, https://tampacardio.com