7 ทริก "สอนลูก" ให้พี่น้องรักกัน ไม่ต้องเสียเวลาสั่งหรือห้ามทัพ
การสอนให้"พี่น้องรักกัน"ต้องเกิดจากใจไม่ใช่ “สั่งให้ทำ” ฉะนั้นการสอนให้ลูกรักกันจึงต้องมีเทคนิค รวมทั้งต้องใช้วิธีที่ไม่ทำร้ายความรู้สึกของคนใดคนหนึ่งด้วย
เรื่องของความรัก ไม่ว่าจะรักใครต้องใช้ใจนำทาง แต่หากต้องรักเพราะ "ถูกสั่ง" คงไม่มีใครอยากทำแน่นอน เด็กก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้นการที่พ่อแม่จะบอกว่าให้พี่น้องรักกันด้วยการเสียสละ หรือลูกต้องยอมให้อีกคนเป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจกันมากและไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง เราจึงนำข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับการสอนให้พี่น้องรักกันจากกุมารแพทย์ที่ได้แนะนำไว้ มาบอกให้คุณพ่อคุณแม่นำไปใช้ให้ถูกต้อง
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือคุณหมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน แนะเคล็ดลับการสอนพี่น้องให้รักกันไว้ดังนี้
1. อย่าเสียเวลาสั่งลูกว่า "เป็นพี่ต้องรักน้อง" เพราะความรักไม่ใช่ประโยคคำสั่ง ความรู้สึกไม่ใช่เรื่องสั่งได้ เด็กๆไม่ได้รักใครตามสัญชาตญาณ แต่ความรักของเด็ก กิดขึ้นจากการพบว่าตัวเองเป็นที่รัก และพบว่าการมีพี่น้องเป็นเรื่องดีๆในชีวิต
พ่อแม่ควรทำให้พี่รู้สึกดีกับน้อง จากการที่เขาพบว่ามีน้องแล้วชีวิตดีขึ้น ไม่ใช่มีภาระหรือมีความกดดันมากขึ้น ลองหลีกเลี่ยงคำพูดแบบนี้กับพี่ "ต้องรักน้องนะ" "ต้องช่วยแม่เลี้ยงน้องด้วยล่ะ" เปลี่ยนเป็น "แม่ดีใจที่หนูจะได้มีเพื่อนเล่น คอยดูแลกัน" "น้องต้องดีใจแน่ๆ ที่มีพี่ที่น่ารักอย่างลูก" อยากให้พี่น้องรักกัน อย่าใช้แต่คำพูด แต่ "ทำ" ให้พี่น้องรักกัน ด้วยการทำให้พี่น้องรู้สึกดีต่อกันและรู้สึกดี "กับตัวเอง"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 5 วิธี"เลี้ยงลูก"จิตใจแข็งแรงวันนี้ ดีกว่าซ่อมตอนเป็นผู้ใหญ่
- 10 เทคนิคสร้างทักษะชีวิตลูก เผชิญโลกยุคใหม่
- 10 วิธีช่วยลูกผ่านพ้นได้ เมื่อเผชิญความ "ผิดหวัง"
- 9 ประโยชน์ให้ลูกเล่นทราย เสริมทักษะ "ความฉลาด" ได้รอบด้าน
- ระวัง 4 ภัยร้ายของลูก"วัยเตาะแตะ" ป้องกันไว้ก่อนสายเกิน
2. พยายามไม่พูดประโยคที่ทำให้พี่น้องไม่ชอบขี้หน้ากัน "ต่อไปต้องเป็นหมาหัวเน่าแน่ๆ" "ดูสิ เห็นมั้ยน้องเก่งกว่าอีก" "ถ้าดื้อ แม่จะรักน้องคนเดียวละนะ" แม้จะพูดล้อเล่น แต่มักส่งผลร้ายให้พี่น้องแข่งกัน เปรียบเทียบกัน ไปจนถึงเกลียดกันมากขึ้น
3. เลี่ยงประโยคคลาสสิค ที่ทำให้พี่ไม่รู้จะมีน้องมาทำไม เช่น "เป็นพี่ก็ยอมน้องหน่อย" "เป็นพี่ต้องเสียสละ" "เป็นพี่ต้องเป็นแบบอย่าง" ประโยคเหล่านี้มักทำให้พี่ยิ่งไม่ชอบขี้หน้าน้อง และน้องมักจะเสียนิสัย เพราะเด็กไม่ได้ตกลงกันมาว่าใครจะมาเป็นพี่ ทุกคนควรฝึกการเคารพกติกา เคารพสิทธิกันและกัน ฝึกเสียสละ และฝึกแบ่งปันเช่นเดียวกัน
4. เข้าใจธรรมชาติว่าพี่น้องต้องทะเลาะกัน "เป็นธรรมดา" ไม่มีใครอยู่ด้วยกันจะปรองดองกันได้ตลอด การทะเลาะกันทำให้อีกฝ่ายเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่ายได้มากขึ้น ซึ่งพ่อแม่แทนที่จะโวยวาย อารมณ์เสียที่ลูกทะเลาะกัน ให้หันมาชมลูกบ่อยๆ เวลาที่ลูกเล่นกันดี เช่น “แม่มีความสุขมากเลย ที่วันนี้ลูกสองคนเล่นกันสนุกเลย”
5. อย่าทำตัวเป็น “ศาล” คอยจ้องหาว่าใครผิด อย่าทำให้ลูกติดนิสัย ต้องคอยหาใครมาตัดสินผิดถูก สิ่งที่พ่อแม่ท่องไว้คือ "ลูกไม่ได้ต้องการศาล แต่ต้องการคนมาช่วยแก้ปัญหา" พ่อแม่ต้องเข้ามาช่วยให้ทั้งสองฝ่ายรับฟังกันและกัน ว่าปัญหาคืออะไร แต่ละคนรู้สึกอย่างไร ให้ "ลูก" ช่วยกันคิดว่าลูกจะแก้ปัญหาอย่างไร (เช่น ใครจะเล่นก่อน จะสลับกันอย่างไร) ฝึกลูกให้แก้ปัญหาและสร้างข้อตกลงได้ โดยไม่เข้าไปตัดสินผิดถูกหรือเลือกข้างด้วย
6. ทำความเข้าใจใหม่ในเรื่อง "ความยุติธรรม" ไม่ใช่การทำอะไรให้เหมือนกัน ไม่ต้องซื้อของให้เท่ากันทุกครั้ง ไม่ต้องได้สิทธิทุกอย่างเท่าเทียม "ความยุติธรรม" คือการตอบสนองที่ทำให้แต่ละคนได้สิ่งที่ตนเองพอใจ หรือไม่ได้สิ่งที่แต่ละคนไม่ควรจะได้รับ สอนให้เคารพสิทธิ ไม่ใช่อะไรๆ ก็อ้างความเป็นพี่ที่ต้องเสียสละให้น้อง
7. เด็กทุกคนต้องการพื้นที่ส่วนตัว พ่อแม่จึงควรมีเวลาให้ลูกแยกกัน มีเวลาที่ลูกจะเล่นกับพ่อแม่ พูดคุย ปรึกษาปัญหา โดยพี่น้องไม่ต้องอยู่ด้วยกันตลอด การมีเวลาให้ลูกแต่ละคนเป็นส่วนตัว แสดงถึงการเห็นความสำคัญและความหมายในตัวตนของทั้งพี่และน้อง