รับมือลูก "เอาแต่ใจ" แก้ไขง่าย เริ่มต้นได้ที่พ่อแม่
รู้ไหมว่าทำไมลูกจึง "เอาแต่ใจ" ความจริงมีหลายสาเหตุ และคนที่จะช่วยแก้พฤติกรรมลูกรักได้ คือพ่อแม่ที่ต้อง "ปรับความคิด" และวิธีการจัดการกับลูกรักก่อน
สิ่งแรกที่สำคัญซึ่งขอให้ผู้ใหญ่ทำความเข้าใจใหม่ คือ ไม่มีเด็กคนไหนเอาแต่ใจมาตั้งแต่เกิด แต่หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ คือ ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กที่ตอบสนองและสอนเขาผิดวิธี ดังนั้นมาดูวิธีการจัดการเมื่อเด็กเอาแต่ใจ เพื่อให้พ่อแม่รับมือได้อย่างถูกต้อง
ลูกเอาแต่ใจ - เพราะพ่อแม่คาดหวังเกินวัยลูก
ความจริงแล้วเด็กๆ ไม่ได้มีนิสัยเอาแต่ใจ แต่เป็นเพราะพ่อแม่คาดหวังสิ่งต่างๆ ไว้เกินวัยลูก คิดว่าลูกจะต้องทำได้ คิดได้ และพร้อมที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ตามที่พ่อแม่คิด ทั้งที่ลูกวัย 0-6 ปี เขายังถือว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง (Egocentric)
วิธีรับมือ...พ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนความคิด และเรียนรู้พัฒนาการเด็ก เพื่อที่จะเข้าใจพฤติกรรมตามวัยของลูกเรา และไม่คาดหวังเขาเกินวัย เปรียบได้กับการที่ลูกเรายังไม่พร้อมว่ายน้ำ แต่เราผลักเขาลงไปให้น้ำในขณะที่เขายังไม่พร้อม ทำให้มีการต่อต้าน ไม่พอใจ ไม่ยอมทำในสิ่งที่เราบอก พ่อแม่จึงต้องให้เวลากับลูก ให้เขามีความพร้อม ค่อยๆ เรียนรู้ต่อการทำสิ่งต่างๆ ก่อน เมื่อถึงเวลาที่เขาพร้อม เขาจะยอมทำและจะค่อยๆ ทำได้ดีขึ้น
ลูกเอาแต่ใจ - เพราะพ่อแม่สนใจน้องมากกว่าเขา หรือพ่อแม่ไม่มีเวลาให้เขาเหมือนเดิม
วิธีรับมือ...พ่อแม่ต้องให้ความสนใจกับลูกคนโตอย่างเพียงพอ ให้เวลาและให้สิ่งที่เหมาะสมด้วย พ่อแม่ต้องผลัดมือกันไปมีเวลาสองต่อสองกับลูก ไปเล่นหรือทำกิจกรรมที่ลูกชอบให้มากพอ โดยที่ไม่มีน้องหรือใครอื่น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 7 ทริก "สอนลูก" ให้พี่น้องรักกัน ไม่ต้องเสียเวลาสั่งหรือห้ามทัพ
- 10 วิธีช่วยลูกผ่านพ้นได้ เมื่อเผชิญความ "ผิดหวัง"
- ป้องกัน "ลูกหาย" เริ่มได้จากที่บ้าน พ่อแม่และคนรอบตัวต้องระวังที่สุด
- "Learning Pod" หนึ่งวิธีเพื่อลูกเรียนรู้ดีในยุคโควิด และอนาคต
- 12 "เทคนิค" ดูแลฟันลูก ให้มีฟันสวยแข็งแรงดีตั้งแต่เบบี๋จนโต
ลูกเอาแต่ใจ - เพราะเขายังช่วยเหลือตัวเองตามวัยไม่ได้
เวลาลูกทำอะไรเองไม่ได้ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ดั่งใจ จึงอาจทำให้หงุดหงิดง่าย
วิธีรับมือ…ลองฝึกให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองและช่วยเหลือตัวเองตามวัยของเขา ให้เวลาเขาได้ลงมือทำ เขาจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง
ลูกเอาแต่ใจ - เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาคุณภาพให้ หรือบ้านไม่มีวินัย
เนื่องจากที่บ้านไม่มีตารางเวลาในการทำกิจกรรมหรือทำอะไรที่ชัดเจน
วิธีรับมือ…ให้เวลาคุณภาพและความรักกับลูก ด้วยการอ่านนิทาน พาไปวิ่งเล่น เล่นและทำงานบ้านด้วยกัน เมื่อลูกรู้ว่า พ่อแม่มีอยู่จริงอยู่ในใจ คำพูดพ่อแม่จึงจะศักดิ์สิทธิ์เพียงพอ ลูกจะรับฟังเรา และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเสมอ
ลูกเอาแต่ใจ - เพราะผู้ใหญ่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย สอนเขาคนละทิศทาง
วิธีรับมือ...เลี้ยงลูกด้วยตัวเองให้มากที่สุด สร้างความสัมพันธ์พ่อแม่กับลูกให้แน่นแฟ้น มีเวลาคุณภาพให้ลูก จะทำให้ลูกเชื่อในคำพูดเรามากกว่าคนอื่น แต่ถ้าลูกในช่วงวัย 0-6 ปี ถูกปล่อยให้คนอื่นเลี้ยง พ่อแม่ต้องทำใจและชดเชยเวลาคืนกลับไปให้ลูกมากที่สุด
เด็กเอาแต่ใจ(กับคนอื่น) - เพราะพ่อแม่สั่งและบังคับให้อยู่ในกรอบมากเกินไป
วิธีรับมือ...พ่อแม่ต้องหยุดควบคุมลูกด้วยคำสั่ง แต่ควรจัดตารางเวลาที่ใช้ควบคุมเรากับลูก ตั้งกติกาของครอบครัวแล้วทำร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะลูกคนเดียว รวมถึงควรมีตารางเวลาที่บ้านอย่างชัดเจน เพื่อให้ลูกเรียนรู้กฎด้วยตัวเองพร้อมกับคนในบ้าน โดยไม่ต้องสั่งหรือบังคับ เพราะเห็นพ่อแม่และคนอื่นทำเป็นตัวอย่างนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจากเพจตามใจนักจิตวิทยา ภาพจาก www.Pixabay.com,www.Unsplash.com