ไม่อยากเป็น "โลหิตจาง" ต้องเน้นการกินอาหารบำรุงเลือด
รู้ไหมว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเป็น “โลหิตจาง” คือการขาดสารอาหารจำเป็น เราจึงชวนทุกคนดูแลสุขภาพด้วยการเลือกอาหารที่ช่วย"บำรุงเลือด" และงดอาหารที่ส่งผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก
“โลหิตจาง” เกิดจากการที่ร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดน้อยกว่าปกติ ซึ่งคนที่มีภาวะโลหิตจางอาจไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการแบบไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง โดยคนไทยนั้นมีภาวะโลหิตจางถึงประมาณกว่า 20% ของประชากรไทยทั้งหมด
สาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง คือการขาดสารอาหาร ได้แก่ ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และวิตามินบี 12 ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารและเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และช่วยรักษาอาการภาวะโลหิตจางได้
ฉะนั้นมาดูกันว่าเราควรจะเลือกกินอาหารแบบไหน ที่จะช่วยต้านโลหิตจางให้ห่างไกลได้ ไปดูกันเลย
สาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก
1. ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ เช่น ผู้ที่มีภาวะเบื่ออาหาร รับประทานอาหารมังสวิรัติหรือกินเจ
2. การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยผ่าตัดบริเวณลำไส้เล็ก การติดเชื้อบางชนิด
3. ภาวะที่ร่างกายต้องการธาตุเหล็กเพิ่มมากขึ้น เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์
4. การสูญเสียธาตุเหล็กมากกว่าปกติ เช่น การมีประจำเดือน มะเร็งลำไส้ การเกิดเลือดออกเรื้อรังจากแผลในทางเดินอาหาร
แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กได้แก่
- ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขม คะน้า บร็อกโคลี่ ควรรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม มะนาว องุ่น สตรอเบอร์รี่ พริกหยวก และมะละกอ จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น
- ผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกเกด ลูกพรุน เป็นต้น
- เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง ควรรับประทานร่วมกับผักใบเขียว จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น
- ตับ อุดมไปด้วยธาตุเหล็กและกรดโฟลิก
- อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง หอยนางรม หอยตลบ หอยลาย และปลา ส่วนใหญ่ได้แก่ ปลาตาเดียว ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่าและปลาแซลมอน
- ธัญพืช เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วลันเตา ถั่วลิสง ฮาเซลนัท แมคคาเดเมีย อัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน งา เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์
- อาหารอื่นๆ เช่น ไข่ ซีเรียล ขนมปังโฮลเกร ดาร์กช็อกโกแลต โกโก้ เชอร์รี่ในน้ำเชื่อม ผงกะหรี่ และอาหารเสริมธาตุเหล็ก
เลี่ยงสารอาหารที่ยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก
- แคลเซียม พบในนม ชีส รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ดังนั้นจึงไม่ควรพื่มนมพร้อมกับรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก
- แทนนิน พบในเครื่องเทศ ชา กาแฟ พร้อมมื้ออาหารหรือหลังมื้ออาหารทันที
- ไฟเตท พบในผักที่มีรสฝาด เช่น ขี้เหล็ก กระถิน ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ข้าวที่ไม่ขัดสี
- โพลีฟีนอล พบในผักที่มีใบเขียวเข้ม ขมิ้นชัน รวมถึงสมุนไพรหลายชนิด
ฉะนั้นจึงแนะนำให้ทุกคนหมั่นพยายามกินอาหารที่ช่วยบำรุงเลือด มีธาตุเหล็ก เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารจำเป็นต่อระบบไหลเวียนโลหิตครบถ้วน รวมถึงหากทำได้ แนะเลี่ยง งด หรือกินอาหารที่ส่งผลขัดขวางหรือยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กให้ได้น้อยที่สุด
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก วารสารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, http://ng.dailyadvent.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 7 เคล็ดลับแก้ "เมาค้าง" ทำแบบนี้สิหายแฮงค์และสร่างเร็ว
- "ยาสตรี" ไม่ช่วยกระชับมดลูก และมีข้อห้าม ต้องรู้ทันระวังก่อนกิน
- สังเกตด่วน 4 "โรคผู้หญิง" ไม่ใช่มะเร็งแต่อันตราย
- กิน “สมุนไพร” บรรเทาเลือดจะไปลมจะมาในวัยทอง
- Midlife Crisis สู้ให้ผ่านชีวิตแม่ "วิกฤติ" วัย 40 อัพ