สังเกตให้ดีก่อน "กินยา" เพราะเราอาจกินยาเสื่อมสภาพอยู่
ในยามที่ป่วยไม่สบาย ก่อน “กินยา” เมื่อไรต้องก้มลงมองดูยาทุกครั้ง เพราะหากกินยาไม่ดูได้ยาเ“เสื่อมสภาพ”เข้าร่างกาย นอกจากจะไม่หายป่วยยังเสี่ยงเป็นอันตรายร้ายแรงได้อีก
ไม่ว่าจะป่วยเป็นอะไร ก่อนจะ “กินยา” ทุกครั้งขอให้ทุกคนสังเกตลักษณะยาก่อนทุกครั้งว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยต้องดูลักษณะของยาให้ละเอียดทั้ง เม็ดยา สี กลิ่น และรสของยาว่าเป็นอย่างไร เพราะหากกินยาที่เสื่อมคุณภาพ ยาเก่าหรือหมดอายุเข้าไปอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต
รู้ไหมว่า...ยาจะมีคุณภาพดีจนถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ได้ หากถูกจัดเก็บอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำโดยบริษัทผู้ผลิต แต่หากมีการจัดเก็บยาที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ยาเสื่อมสภาพและมีคุณภาพลดลงก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ ดังนั้นการสังเกตลักษณะของยาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากยาเปลี่ยนไปจากเดิมก็แสดงว่า เราไม่ควรกินหรือใช้ยานั้นต่อไป
วิธีสังเกตยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพ
รูปแบบยา
1. ยาเม็ดที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ สังเกตได้จากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลาก หรือบรรจุภัณฑ์ แต่หากยาเม็ดไม่ได้บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์สามารถสังเกตได้จาก
- ยาเม็ด : เม็ดยาเยิ้ม เม็ดแตก ชื้น บิ่น เปลี่ยนสี
- ยาแคปซูล : เปลือกแคปซูลมักบวมโป่ง มีจุดเชื้อราขึ้น
- ยาผงแห้ง : ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง ไม่สามารถละลายได้ ภาชนะบรรจุมีไอน้ำ หรือหยดน้ำเกาะ
2. ยาน้ำรูปแบบต่างๆ นอกจากจะสามารถสังเกตดูวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากแล้ว ยังสามารถสังเกต สี กลิ่น และรส ที่เปลี่ยนไป และสามารถสังเกตได้จาก
- ยาน้ำใส : มีตะกอนเกิดขึ้น หรือขุ่น
- ยาน้ำแขวนตะกอน : เมื่อเขย่าขวดแรงๆ ยาจะไม่กลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน หรือตะกอนยังเกาะติดแน่นกัน
- อีมัลชั่น : เมื่อเขย่าจะไม่เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
3. ยารูปแบบอื่น ๆ สามารถสังเกตได้จาก
- ยาขี้ผึ้ง : แยกชั้น สี เนื้อสัมผัส และมีความหนืด เปลี่ยนไป ของเหลวออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยา มีกลิ่นเหม็นหืน
- ยาครีม : แยกชั้น สี เนื้อสัมผัส และมีความหนืด เปลี่ยนไป มีกลิ่นเหม็นหืน
- ยาเจล : เนื้อเจลขุ่น ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน
สาเหตุที่ทำให้ยาเสื่อมสภาพได้
- การเสื่อมสภาพทางเคมี ได้แก่ การลดลงของปริมาณตัวยาสำคัญ และการเพิ่มขึ้นของสารสลายตัว
- การเสื่อมสภาพทางกายภาพ ได้แก่ ความผิดปกติของสื กลิ่น รสชาติ และความใส หรือการเกิดตะกอน
- การเสื่อมสภาพทางจุลชีววิทยา ได้แก่ การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเกินระดับปลอดภัย
วิธีเก็บรักษายาให้คงคุณภาพ 5 ข้อ
1. เก็บยาในที่แห้งในภาชนะที่ปิดสนิท
2.ไม่เก็บยาในห้องน้ำ ในที่มีความร้อน แสงแดดส่องถึง ในรถยนต์ หลังตู้เย็น และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่มีความร้อน
3. โดยทั่วไปยาไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ยกเว้นยาบางชนิด ส่วนยาที่ระบุให้เก็บในตู้เย็น ต้องเก็บในช่องเย็นธรรมดา อย่าเก็บในช่องแช่แข็ง
4.ไม่แกะยาออกจากแผงล่วงหน้า เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพ
5. เก็บยาตามข้อแนะนำที่ระบุบนฉลากยา
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา,www.pixabay.com https://www.facebook.com/AntiFakeNewsCenter, https://www.siphhospital.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชวนเช็ค สายตาผิดปกติจาก "เบาหวาน" รีบป้องกันไว้ก่อนตาบอด
- สุดยอด "อาหารเช้า" สุขภาพ กินดี อิ่มนาน ไม่อ้วนง่าย
- 4 วิธีกินอาหารแก้ "ท้องผูก" จาก 4 สาเหตุ สูตรแผนจีน
- กิน “สมุนไพร” บรรเทาเลือดจะไปลมจะมาในวัยทอง
- สังเกตด่วน 4 "โรคผู้หญิง" ไม่ใช่มะเร็งแต่อันตราย