ดื่มนมวัวแล้ว ท้องอืด คลื่นไส้ ผายลมบ่อย อาจเป็นเพราะ "แพ้น้ำตาลแลคโตส"
อายุที่มากขึ้นอาจทำให้ปฏิกิริยาภายในร่างกายของคุณตอบสนองต่อ "นมวัว" เปลี่ยนไปซึ่งอาจเป็นเพราะคุณ "แพ้น้ำตาลแลคโตส"
เราต่างรู้กันว่า "นม" มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย และมีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูก ฟัน และกล้ามเนื้อ แต่หากเราดื่มนมแล้วเกิดอาการถ่ายเหลวอาจเป็นสัญญาณอันตรายบ่งชี้ว่าร่างกายของคุณแพ้ "แลคโตส" ในนมได้
อาการแพ้น้ำตาล "แลคโตส" (Lactose intolerance) เกิดจากการย่อยน้ำตาลในนมไม่ได้ เป็นอาการทางเดินอาหารหลังจากดื่มนมวัว หรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัว พบมากในผู้ใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็เด็กก็สามารถแพ้ น้ำตาล "แลคโตส" ได้เช่นกัน
สามารถสังเกตุอาการได้ดังนี้
- แน่นท้อง ท้องอืด
- ปวดท้อง ผายลมบ่อย
- คลื่นไส้ ท้องเสีย
- อาเจียน ถ่ายเหลว
ผู้ที่มีแพ้น้ำตาลแลคโตส อาจทำให้ได้รับแคลซียมหรือวิตามินดีไม่เพียงพอ เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ จึงควรดื่มนมชนิดอื่นทดแทน เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์
แลคโตส คืออะไร?
แลคโตส คือ น้ำตาลชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ ที่ประกอบไปด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวทั้งสองชนิดรวมกัน คือ น้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลกาแลคโตส น้ำตาลแลคโตส เป็นน้ำตาลที่พบได้ในน้ำนมของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นมวัว นมแพะ และนมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ รวมไปถึงนมแม่ และอาหาร หรือขนมที่มีนมเหล่านี้เป็นส่วนประกอบด้วย เช่น คุกกี้ เค้ก เบเกอรี่ต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากเครื่องดื่ม หรือ ขนมเบเกอรี่ร้านไหนระบุว่าไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์จากนมวัว หรือนมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในการทำ คนที่แพ้น้ำตาลแลคโตสก็สามารถดื่มเครื่องดื่มและทานขนมจากเบเกอรี่เจ้านั้นๆ ได้
แพ้ น้ำตาล “แลคโตส” ในนม แต่อยากดื่มนม ทำอย่างไร?
เนื่องจากน้ำตาลแลคโตสมีอยู่ในเฉพาะนมที่มาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดังนั้นคนที่มีอาการแพ้แลคโตสอาจเลี่ยงไปดื่มนมที่ทำจากถั่วแทน เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ เป็นต้น แต่ข่าวดีคือ นอกจากสมัยนี้เราจะมีนมวัวชนิด free-lactose หรือไม่มีน้ำตาลแลคโตสออกมาวางจำหน่ายมากขึ้นหาซื้อได้สะดวกมากขึ้นแล้ว อาการแพ้แลคโตสยังสามารถดีขึ้นได้ด้วยการ “ฝึก” ให้ร่างกายเคยชินกับแลคโตสมากขึ้นทีละนิดๆ โดยการสังเกตอาการของตัวเองที่เกิดขึ้นหลังดื่มนม (เพียงเล็กน้อย) ว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร เช่น มีอาการปวดท้องหลังดื่มนมในขณะที่ท้องว่างในตอนเช้า หรือท้องเสียทุกครั้งเมื่อดื่มนมเกิน 1 แก้ว จากนั้นค่อยๆ ลองปรับเปลี่ยนวิธีดื่ม และปริมาณในการดื่มให้เหมาะสม เช่น อาจหลีกเลี่ยงการดื่มในขณะท้องว่าง เลือกดื่มนมหลังทานอาหารเช้า หรือระหว่างมื้ออาหารเช้า โดยใช้วิธีค่อยๆ จิบทีละนิด จากครึ่งแก้ว เป็น 1 แก้ว เมื่อไรที่เริ่มมีอาการผิดปกติให้หยุดดื่ม แล้วลองลดปริมาณลงในครั้งถัดไป เป็นต้น วิธีนี้อาจสามารถทำให้ร่างกายๆ ปรับตัวให้ชินมากขึ้น
ที่มาข้อมูลและรูปภาพ:
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail