12 วิธี เลี้ยงลูกให้ "อีคิวสูง" มีความฉลาดทางอารมณ์ มีความสุขในชีวิต
คนที่มี "อีคิวสูง" จะเป็นคนที่มีความเข้าใจตนเองดี รู้จุดเด่นจุดด้อยและมีความสามารถในการควบคุมและจัดการกับอารมณ์ตนได้ สามารถในการแก้ไขข้อขัดแย้ง มองโลกในแง่ดีสามารถจูงใจและให้กำลังใจตนเองทำเป้าหมายในชีวิตที่วางไว้ได้สำเร็จ
E.Q. คืออะไร
E.Q. ย่อมาจาก Emotional Quotient หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ คนที่มีอีคิวดี คือ คนที่รู้จักและเข้าใจอารมณ์ตัวเอง รู้จักแยกแยะควบคุมอารมณ์ได้ และสามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างถูกต้องตามกาลเทศะและปรับตัวให้เข้ากับสังคมอย่างเหมาะสม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้กระแสอีคิวกำลังมาแรงซึ่งอาจเป็นด้วยว่าภาพสะท้อนของผู้คนในสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลง เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมระบบของอีคิวจะเริ่มเสีย รัฐจึงควรหาปัจจัยเกื้อหนุนส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจให้มากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าระยะ 10 ปีที่ผ่านมาสุขภาพจิตของคนเราเสื่อมลงมาก มีปริมาณคนไข้ทางจิตสูงขึ้น
10 แนวทางเลี้ยงลูกให้มีอีคิวสูง
1. ให้ความรัก
เป็นข้อแรกที่สำคัญมาก และไม่เพียงแต่ให้ความรักเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงออกอย่างเหมาะสมอีกด้วย บางคนรักลูกแต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความรักออกมาให้ลูกเห็นเลย กระนั้น การยิ้มให้ การสัมผัส การกอด โอบไหล่ ล้วนแล้วแต่เป็นภาษากายที่บ่งบอกถึงความรักของพ่อแม่ต่อลูกได้เป็นอย่างดี
2. ครอบครัวมีสุข
การที่คุณพ่อ คุณแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมถึงมีทัศนคติ ความคิดเห็นในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน หรือถ้ามีความขัดแย้งบ้าง ก็ควรมีการพูดคุย ตกลงกันให้เป็นทิศทางเดียวกัน
- อย่างไรก็ดี คุณหมอได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ขัดแย้งกันเองในการวางกฎเกณฑ์ โดยครอบครัวหนึ่ง มีลูกอายุประมาณ 2-3 ขวบร้องไห้เพราะอยากเล่นลิปสติกของแม่เรื่องนี้คุณผู้หญิงทั้งหลายคงทราบดีว่า ที่คุณแม่ไม่ยอมให้ลูกเล่น เพราะลิปสติกจะหักเสียหายได้ แต่หากเวลาอยู่กับพ่อ พ่ออนุญาตให้ลูกเล่นได้ หรือพ่อเห็นลูกร้องไห้ ก็ต่อว่าแม่ต่อหน้าลูกว่า "เรื่องแค่นี้เอง ก็ให้ลูกเล่นไปสิ" ส่งผลให้เด็กสับสน ไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ว่าเรื่องนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรตกลงกันด้วยเหตุผลให้เรียบร้อยก่อนจะได้ควบคุมเด็กให้ไปในทิศทางเดียวกันได้
3. รู้ และ เข้าใจพัฒนาการของลูก
จะทำให้เข้าใจ และปฏิบัติตัวต่อลูกได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม ซึ่งพัฒนาการไม่ได้หยุด หรือหมดไปเมื่อพ้นวัยอนุบาล แต่จะต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นก็มีพัฒนาการของวัย และสำคัญมากด้วย แต่ส่วนใหญ่ คุณพ่อคุณแม่หลายคนปฏิบัติต่อลูกที่เข้าช่วงวัยรุ่นแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะคิดว่าลูกมีพัฒนาการเหมือน 2-3 ปีก่อน
- ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อ คุณแม่บางคนอยากรู้เรื่องของลูกก็ใช้วิธีแอบฟังโทรศัพท์เวลาลูกคุยกับเพื่อน แอบเปิดค้นกระเป๋า แอบดูไดอารี่ สมุดบันทึกของลูกเกือบร้อยทั้งร้อยเมื่อลูกรู้คงต้องโกรธเป็นอย่างมากเพราะไปกระทบกับพัฒนาการของวัยรุ่นที่สำคัญ นั่นคือ ความเป็นส่วนตัวดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรมีความรู้และความเข้าใจพัฒนาการของลูกด้วยจะช่วยให้ปฏิบัติต่อลูกได้อย่างเหมาะสม
4. พ่อแม่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกให้มากที่สุด
ถ้าพ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ อย่างน้อย ตกกลางคืน ก็ควรให้เวลากับลูกบ้าง เพราะจะได้มีประสบการณ์ และได้รับรู้ความรู้สึกของการตื่นขึ้นมาให้นมลูก เวลาลูกร้องหิวตอนกลางคืน หรือได้โอบกอด และปลอบให้ลูกหลับต่อ นั่นจะยิ่งทำให้พ่อแม่รัก และเข้าใจในตัวลูกมากขึ้น
5. ส่งเสริมให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
เมื่อลูกทำดี หรือประสบความสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ต้องชม เมื่อลูกท้อแท้ ก็ควรให้กำลังใจ ซึ่งบางคนบอกว่าชมมากเดี๋ยวลูกจะเหลิง แต่การชมไม่ให้เหลิงคือการชมอย่างถูกต้อง สมเหตุสมผล นั่นจะช่วยให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเอง เป็นเรื่องที่มีค่าต่อความรู้สึกของลูกมาก
6. ให้อิสระ-โอกาสในการตัดสินใจ
จะช่วยให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ ไม่พยายามบังคับความคิดลูก (ถ้าเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องของกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย)
7. สอนลูกให้รักตัวเอง-รักคนอื่น
พ่อแม่สอนลูกให้รู้สึกเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ผู้อื่นด้วย เช่น พาลูกไปให้ของเด็กพิการ ตามสถานสงเคราะห์ หรือให้ผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชรา
8. ให้ลูกรู้จักคิดเป็นเหตุ-เป็นผล
โดยส่งเสริมทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และเรื่องสำคัญๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกอยากจะซื้อของเล่น ของใช้ที่แพงๆ หรือเป็นของที่มีอยู่แล้วก็สอนให้ลูกรู้จักใช้หลักการและเหตุผลว่าควรซื้อหรือไม่ควรซื้อ ดีกว่าการตัดสินว่าไม่ให้โดยไม่ให้เหตุผลและต่อว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
9. สอนลูกรู้จักหาความสุขให้ตัวเอง
ข้อนี้ก็มีความสำคัญมาก เพราะเด็กหลายคนที่เก่ง ประสบความสำเร็จในการเรียน กีฬา แต่ไม่มีความสุข เนื่องจากเครียดอยู่ตลอดเวลาในการที่จะรักษาความเก่งของตัวเองไว้ให้ได้ตลอดไป หรือ ให้เก่งมากขึ้นเพื่อเอาชนะคนอื่น
10. เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
คุณพ่อคุณแม่ เป็นตัวอย่างให้ลูกทำสิ่งดีๆ แล้วลูกจะเรียนรู้โดยอัตโนมัติในแบบที่ไม่ต้องพูดหรือสอนเลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ นิสัยรักการอ่าน ส่วนหนึ่งเกิดจากพ่อแม่เป็นแบบอย่าง เช่น เวลาอยู่บ้านว่างๆ ก็จะหยิบหนังสือมาอ่าน ชอบที่จะอ่านนิทานให้ลูกฟัง พูดคุยกับลูกถึงเรื่องในหนังสือที่อ่าน แบบนี้ลูกก็มักจะติดนิสัยรักการอ่านหนังสือโดยไม่รู้ตัว
ที่มาข้อมูล:
www.thaihealth.or.th
www.kindeekids.com
www.natres.psu.ac.th/Journal/EQ_Successfull/
https://bangkok.unesco.org/content/happy-schools